12 มหา’ลัย ยกเครื่องสอบภาษาอังกฤษ ใช้มาตรฐาน ‘FRELE-TH’ ให้ ม.6 ใช้สอบเข้าเรียนต่อ

 12 มหา’ลัย ยกเครื่องสอบภาษาอังกฤษ ใช้มาตรฐาน ‘FRELE-TH’ ให้ ม.6 ใช้สอบเข้าเรียนต่อ

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า กอปศ. ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง พิจารณาเรื่องการจัดทดสอบภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนระดับชั้น ม. 6 เนื่องจากการทดสอบภาษาอังกฤษชั้น ม.6 ที่ สทศ.จัดทำอยู่เพื่อนำผลไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งต้องสอบคน 3-4 แสนคน ทำให้ต้องใช้ข้อสอบปรนัย เพื่อดำเนินการตรวจข้อสอบให้เสร็จภายใน 1 เดือน แต่สิ่งที่ได้จากการสอบยังไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยและไม่เป็นประโยชน์ในการคัดเลือกคนเข้าสู่การศึกษา เพราะเป็นการนำคะแนนตัวเลขเดียวไปใช้ ขณะที่บางสาขาเน้นเรื่องการพูด บางสาขาเน้นการเขียน บางสาขาเน้นการอ่าน บางสาขาเน้นการฟัง

“จากการหารือและดำเนินการร่วมกันได้ข้อสรุปว่า สถาบันภาษาของมหาวิททยาลัย 12 แห่ง สทศ.จะใช้มาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับคนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นำมาจาก Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ มาปรับเป็นมาตรฐานสำหรับคนไทย ตามกรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทย เรียกว่า Framework of Reference for English Language Education in Thailand based on the CEFR (FRELE-TH) ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าคนไทยที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรจะมีความรู้ ฟัง พูด อ่านเขียนภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร และให้สถาบันภาษาทุกแห่งช่วยกันพัฒนาการสอบ โดยนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาช่วยและมีข้อตกลงยอมรับผลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเด็กจะสอบที่ไหนก็สามารถนำผลไปใช้ในมหาวิทยาลัย 12 แห่งที่ทำความร่วมมือนี้ได้”นพ.จรัส กล่าว

นพ.จรัส กล่าวต่อว่า ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจประเมินความสามารถภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สทศ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

มติชนออนไลน์