“ชัยวัฒน์” คิดบวก “250 ส.ว.” มีมโนธรรมสำนึกได้ ชวนคิดอยากเป็น “สมบัติของชาติ” หรือ “สมบัติของผู้แต่งตั้ง”

ฃวันที่ 22 พฤษภาคม นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการเช้าทันโลก ทางช่องวิทยุ FM 96.5 โดยกล่าวถึงบทบาทของวุฒิสภาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดเท่ากับเป็นภาพสะท้อนทางสัมพันธภาพทางอำนาจของประเทศในเวลานั้น และในเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มาจากการรัฐประหาร ก็เลยต้องมีวุฒิสภาที่สะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจของผู้ทำรัฐประหาร

“วุฒิสภาทั้ง 250 คนเป็นทหารตำรวจ 100 กว่าคน ที่เหลือเป็น สนช.และฝ่ายภาคประชาสังคม  แต่ไม่ว่าจะมาจากไหนที่น่าคิดคือ พื้นที่ของวุฒิสภาไม่ใช่พื้นที่ของทหารหรือหน่วยราชการ สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจในฐานะที่ตัวเองเป็นวุฒิสมาชิก กฎหมายเขียนไว้ว่าให้มีการลาออกจากตำแหน่งแล้วย้ายจากสิ่งที่ตัวเองเคยอยู่มาสู่พื้นที่ใหม่ การเป็นวุฒิสมาชิกจึงหมายความว่าต้องให้เริ่มต้นการตัดสินใจใหม่โดยคิดถึงหลายๆอย่าง คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งอาจจะหมายถึงประโยชน์ของรัฐบาล ประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือประโยชน์ของสังคมไทยที่จะมีต่อไปในอนาคตยาวไกล  ผมไม่เห็นด้วยว่าต้องตัดสินใจตอนนี้ก่อน  เพราะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า บางทีเราคิดเรื่องเฉพาะหน้าเกินไป  มันเลยไปทำลายอนาคต คำถามที่น่าคิดคือ ลองนึกภาพในวันยกมือแล้วทั้งวุฒิสภายกมือไปในทางเดียวกันทั้งหมด 250 คน ผลที่ตามมาก็คือ มันจะตอกย้ำยืนยันอะไร เพราะฉะนั้น วุฒิสมาชิกแต่ละคนควรต้องมีมโนธรรมสำนึกของตัวเองว่ากำลังทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ในฐานะอะไร ถ้าวุฒิสมาชิกทั้งหมดยกมือออกมาในทางเดียวกัน  มันไม่น่าดูนะ เหตุผลที่มันไม่น่าดู เพราะมันไม่ใช่ค่ายทหาร ไม่ใช่การสั่งทหารไง มันเป็นพื้นที่ทางการเมือง  เพราะฉะนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องตลกไปเลยถ้าเป็นอย่างนั้นจริง จึงน่าสนใจที่จะลองคิดดูว่าจะทำเพื่ออะไร เพื่อรัฐบาลหรือเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศนี้ หรือเพื่ออนาคตของสังคมไทยในระยะยาว แล้วผมเชื่อว่าท่านที่ได้รับเสนอชื่อเข้ามา ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เยอะแยะ คิดว่าท่านก็ต้องมีมโนธรรมสำนึกของท่าน แล้วท่านก็ต้องมีเหตุผลของท่าน”

นายชัยวัฒน์ ระบุต่อว่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีคนคิดว่าวุฒิสมาชิกเป็นของเรา เพราะแต่งตั้งมาจากนาย ก.ก็ต้องเป็นของนาย ก.  แต่ประเด็นคือ เมื่อเข้าไปอยู่ในวุฒิสภา ก็จะมีสถานะเป็นวุฒิสมาชิกของประเทศ  ก็ต้องเป็นของพวกเราด้วย  คำถามคือ แล้ววุฒิสมาชิกอยากจะเป็นสมบัติของผู้แต่งตั้งหรืออยากจะเป็นสมบัติของชาติ หลายท่านก็มีตำแหน่งหน้าที่และก็มีสำนึกในหน้าที่  แต่ที่ต้องคิดคือ บทบาทหน้าที่จะเหมือนหรือแตกต่างจากในอดีต

“คำถามอยู่ที่ว่าเขาคิดถึงตัวเขาในฐานะไหน น่าสนใจนะ เราอาจจำเป็นจะต้องทำให้เขาเห็นว่าเขาก็เป็นของเราด้วย ไม่ได้เป็นแต่ของคนตั้งมา น่าสนใจนะครับ กรรมสิทธิ์ของสิ่งเหล่านี้   พื้นที่ที่เขากำลังจะทำงาน และตัวตนของเขาในฐานะวุฒิสมาชิก เป็นเรื่องที่อาจจะพอมีหวังอยู่ก็ได้นะครับ” นายชัยวัฒน์กล่าว