นิติ มช. ซัด 5 ปี คสช. ประเทศไทยอยู่ใต้อำนาจนิยม-ล้มเหลวการบริหาร-ยุติธรรมสองมาตรฐาน-เหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น

วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ ในวันครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร เรื่อง หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ความว่า แม้จะมีการเลือกตั้งบังเกิดขึ้นเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ด้วยความคาดหวังว่าสังคมไทยจะสามารถกลับคืนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทางฝ่ายผู้มีอำนาจได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องและแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านองค์กรของรัฐหลายองค์กร เพื่อทำให้ทาง คสช. จะยังคงสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้

นับเป็นเวลา 5 ปีแล้วที่สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม และก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คสช. ไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการบริหารประเทศในด้านต่างๆ หากยังนำมาซึ่งปัญหาอีกจำนวนมาก การขยายอำนาจระบบรัฐราชการรวมศูนย์, การส่งเสริมกลุ่มทุนประชารัฐ, การคุกคามและทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว, ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยากจนและคนร่ำรวยที่ถ่างกว้างมากขึ้น นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เห็นหัวประชาชน เป็นต้น

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความยุ่งยากที่ไม่อาจจะแก้ไขได้โดยง่าย อันเนื่องมาจากโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญแทบไม่เปิดช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลย

การจะไปให้พ้นจากระบอบ คสช. คือการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถก้าวเดินต่อไปได้ หนทางสำคัญประการหนึ่งก็คือการไม่ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนหัวหน้า คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง และต้องเปิดทางให้พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล

ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องร่วมกันแสดงความเห็นและกดดันต่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้แถลงนโยบายต่อสาธารณะไว้อย่างชัดเจน ต้องไม่ปล่อยให้พรรคการเมือง “ตระบัดสัตย์” เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเองโดยไม่ตระหนักถึงอนาคตของสังคมไทย

หากมีการเสียสัตย์เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ขอให้ประชาชนจดจำการกระทำดังกล่าวไว้เพื่อที่จะได้ใช้อำนาจของตนลงโทษกับพรรคการเมืองนั้นๆ ให้สาสมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมทั้งยุติการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงและถาวร

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าการจัดตั้งรัฐบาลด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามในการเดินหน้ากลับคืนสู่สภาวะปกติของสังคม ยังคงมีความยุ่งยากและอุปสรรคอีกนานัปการรอคอยอยู่

ต่อให้นายกรัฐมนตรีจะไม่ใช่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เราจะยังคงได้เห็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ในฐานะ ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ, ก.ก.ต. ผู้จัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ และอีกมากมาย

ดังนั้น ผู้คนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะในฐานะของประชาชน นักศึกษา ปัญญาชน นักการเมือง นักพัฒนาเอกชน ผู้นำแรงงาน สื่อมวลชน นักกิจกรรมสังคม และอีกหลากหลายกลุ่ม จำเป็นต้องร่วมมือกันในการผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้ เราไม่อาจฝากความหวังหรือโยนภาระของการผลักดันประชาธิปไตยให้เป็นเรื่องของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น