E-DUANG : บทบาท”สนช.”กับหลักแห่ง”อริยสัจ”

ดร.สาโรช บัวศรี อธิการผู้ยิ่งยงแห่งวิทยาลัยวิชาการศึกษา คือ ผู้นำเอาหลักแห่ง “อริยสัจ” เข้ามาประสานเข้ากับกระบวนการสอน

เท่ากับนำเอาขุมทรัพย์ทางปัญญาแห่งพุทธธรรมเข้ามา

เท่ากับทำให้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ประยุกต์เข้ากับกระบวนการเรียน การสอน สมัยใหม่

อริยสัจ คืออะไร

สมเด็จพระพุฒาจารย์(ป.อ.ปยุตโต)นิยามผ่านหนังสือ”พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์”ว่า

อริยสัจ

1 ความจริงอย่างประเสริฐ 1 ความจริงของพระอริยะ 1 ความจริงที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ

ความจริงนี้สรุปแบบชาวบ้านก็คือ ทำให้”พันทุกข์”

เมื่อนำเอาคำว่า “ทุกข์” มาประยุกต์ใช้ใหม่ก็แปรเป็น “ปัญหา”

ที่สุดแล้ว “อริยสัจ” คือกระบวนการแก้ปัญหา แก้ทุกข์

 

พลันที่ 81 สนช.เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ก็เกิด “คำถาม”

“สนช.” ต้องการแก้”ปัญหา”อะไร

หากดูจากเนื้อหาที่เสนอก็เด่นชัดว่า ต้องการแก้ปัญหา”อำนาจ”ในการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” ที่บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 7

เป้าหมายก็คือ ตัด “มหาเถรสมาคม” ออกไป

เป้าหมายก็คือ ให้คงบทบาทของ “นายกรัฐมนตรี”อย่างเป็นด้านหลัก และเพียงผู้เดียว

แสดงว่า “มหาเถรสมาคม” คือ “ปัญหา”

แสดงว่า “มหาเถรสมาคม” คือ “ตัวทุกข์” จึงจำเป็นต้องตัดออกไป ไม่ให้มีอำนาจในการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช”

ความหมายอย่างตรงเป้าที่สุดก็คือ

การดึงเอาอำนาจในการสถาปนา”สมเด็จพระสังฆราช”มาไว้กับ “นายกรัฐมนตรี”

นั่นก็คือ ให้ “พลเรือน”มีอำนาจใน”การสถาปนา”

 

น่ายินดีที่ไม่ว่า พระธรรมเมธี ในฐานะโฆษกมหาเถรสมาคม ไม่ว่า พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

ออกมา “สรุป” ตรงกัน

ปฏิเสธว่า “คณะสงฆ์” มิได้เป็นปัญหา เพราะภายในคณะสงฆ์มิได้มีความขัดแย้ง แตกแยก

“มติ”ของมหาเถรสมาคม “ชัด”

คราวนี้ก็ทำให้เริ่มมองเห็นว่า “ปัญหา” น่าจะมาจาก”ฆราวาส”มากกว่าทำให้สงสัยว่า 81 สนช.ตีประเด็นทะลุหรือไม่

ทำให้สงสัยในบทบาทของ 81 สนช.ว่าต้องการอะไร ต้องการยุติความขัดแย้ง หรือขยายความขัดแย้ง

ความหมายจึงหมายความถึง การสร้าง”ปัญหา”