ส.ส.ประจวบฯ เล็งยื่นกระทู้สดถาม รมว.พาณิชย์-เกษตรฯ ไฟเขียวนำเข้า ‘มะพร้าว’ อินโดฯ

วันที่ 20 พฤษภาคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ จ. ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดสภาผู้แทนราษฎรในวาระปกติ จะยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นรวมทั้งความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ ขณะที่มะพร้าวผลใหญ่ราคาเหลือลูกละ 8-9 บาท หักต้นทุนค่าเก็บแล้วเหลือ 6 บาท มะพร้าวขาวกิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท กรณีอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวผลจากประเทศอินโดนีเซีย ตามกรอบการค้า WTO ผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปผลิตน้ำกะทิเพื่อส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 54 แต่ผู้ประกอบการสามารถเรียกคืนจากกรมศุลกากรได้หากมีการส่งออกภายใน 6 เดือน

นายประมวล กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ควรพิจาณาถึงผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ควรตรวจสอบว่ามะพะร้าวที่นำเข้ามีการตรวจโรคพืช มีการรมควัน ตามหลักเกณฑ์หรือไม่ หรือดำเนินการเหมือนกรณีอินโดนีเซียจะนำเข้าสินค้าเกษตรไทยบางประเภท เคยมีการกีดกันด้วยการตรวจโรคพืชขอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้สินค้านำเข้าไปทุบราคาผลิตในประเทศ

“วันนี้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในประเทศหลายจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน แหล่งปลูกมะพร้าวคุณภาพดีที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ยังมีปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ที่ผ่านมา มีตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ได้ยื่นข้อเสนอหลายด้านผ่านตัวแทนเจ้าหน้าที่จาก 2 กระทรวง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 แต่ปัจจุบันกลไกราคายังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง” นายประมวล กล่าว

นายประสพชัย พูลเกิด หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการนำเข้ามะพร้าวนอกโควต้าตามกรอบการค้า WTO เข้ามาใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 16 ใบคำขอ จำนวน 186.49 ตัน จากอินโดนีเซีย ตามเงื่อนไขในการทำการค้าระหว่างประเทศโดยยอมรับว่าหากมีปัญหาอาจะกระทบกับการค้าตลาดต่างประเทศในภาพรวม โดยไม่ได้นำมะพร้าวออกไปกะเทาะนอกโรงงาน ต่างจากการเข้าตามกรอบ AFTA หรือ อาฟต้า ในอัตราภาษีนำเข้า 0% ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งงดนำเข้าในกรอบอาฟต้า ตามที่ตัวแทนเกษตรกรยื่นข้อเสนอเพียงกรอบเดียวเท่านั้น สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกต้องสั่งนำเข้า เบื้องต้นเชื่อว่าอาจมีปัญหาจากระบบการซื้อขายผลผลิตในประเทศ เนื่องจาก ล้งมะพร้าวขนาดใหญ่บางรายอาจจะเก็บผลผลิตไว้ หลังจากประเมินว่าเร็วๆ นี้ ผลผลิตจะมีราคาสูงขึ้น