อดีต ส.ว.สรรหา เผยเบื้องหลัง เจรจา นปช. ปี53 กลับจบลงด้วยทหารฆ่าประชาชน

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.สรรหา) ภาควิชาชีพ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat เล่าเหตุการณ์ก่อนการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ที่ ส.ว. พยายามที่จะเป็นตัวกลาง ในการเจรจา ระหว่างรัฐบาล และ ผู้ชุมนุม จนสุดท้ายการเจรจาไม่เป็นผล จบลงที่การปราบปรามประชาชน ในวันรุ่งขึ้น (19 พฤษภาคม 2553) โดยมีใจความ ดังนี้

ฝ่าดงปืน Sniper ไปหาทางออกประเทศ (9 ปี แห่งการรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม 53)

ใครจะเชื่อครับว่า เหตุการณ์วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่ความสูญเสียและการขยายความขัดแย้งระหว่างประชาชนจนเหมือนกับเส้นขนานที่ยากยิ่งในการบรรจบกันได้ในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงนั้น ในฐานะที่มีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง ผมได้ใช้ความพยายามในการหาข้อยุติปัญหานั้น

แต่ในท้ายที่สุด ด้วยการมีธงของรัฐบาลขณะนั้นที่ต้องการจะปราบปรามผู้ร่วมชุมนุม สุดท้ายความพยายามในการหาข้อยุติด้วยสันติจึงไม่เกิดขึ้น และเรื่องราวที่เกิดขึ้น บังเอิญผมได้มีบันทึกไว้ในส่วนของ “บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ในเหตุการณ์พฤษภา 53” วันนี้คิดว่าน่าจะได้นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนที่อาจไม่เคยทราบเรื่องได้รับทราบไว้ และช่วยกันหาทางในการยุติความขัดแย้งของประชาชนที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป

ที่บอกฝ่าดงปืน เพราะก่อนหน้านั้น พลตรีขัตติยะ (เสธ.แดง) สวัสดิผล เพิ่งจะโดย Sniper ซุ่มยิงจนเสียชีวิต และคณะเราที่เข้าไปเจรจากับกลุ่ม นปช. ได้รับการเตือนว่า ขากลับให้รีบแยกย้ายกันออก โดยห้ามเดินเท้า เพราะจะเป็นเป้านิ่งให้กับมือปืนเหล่านั้นได้

ส่วนนี้ ผมคัดมาเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ครับ (ถ้ามีเพื่อนๆสนใจ ก็ยินดีที่จะนำมาเผยแพร่ให้ได้รู้ข้อเท็จจริง ว่าวุฒิสภาได้ดำเนินการอะไรบ้าง ในโอกาสต่อไปครับ)

วันที่ 18 พฤษภาคม 2553

คณะรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี) ประกาศให้วันที่ 19-21 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. ตอบรับข้อเสนอของวุฒิสภาที่จะเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาและหาแนวทางการแก้ปัญหา (ซึ่งได้มีการประสานไปล่วงหน้าแล้ว 1 วัน)

(เวลาประมาณ 10.00 น.) ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ได้หารือกับสมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ไม่นิยมความรุนแรงและมีข้อยุติที่จะส่งผู้แทนจำนวน 3 คน (ตอนหลังมีผู้อาสาไปสมทบรวมเป็น 5 คน) ไปพบกับแกนนำ นปช. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเวลา 19.00 น. เพื่อรับทราบเงื่อนไขและนำมาเสนอต่อรัฐบาล โดยในเบื้องต้น สมาชิกวุฒิสภาเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรยุติการปะทะกันก่อน

ขณะเดียวกัน (เวลาประมาณ 13.30 น.) ท่านประธานวุฒิสภาได้โทรศัพท์แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจ้งไม่ขัดข้อง และให้ท่านประธานฯฝากประเด็นให้ผู้แทนที่จะไปเจรจาหาคำตอบรวม 3 ประเด็น คือ

1. ให้มีการเคลื่อนย้ายรถน้ำมันออกจากบริเวณถนนพระรามที่ 4 ได้หรือไม่
2. ขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยคนบาดเจ็บ เด็ก และที่ต้องต้องการจะเดินทางกลับบ้านได้หรือไม่
3. การให้ทั้งสองฝ่ายหยุดหมายถึงอะไร ไม่มีการยิง ไม่มีการเผชิญหน้า หรืออย่างไร

ช่วงเวลาเดียวกัน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงท่าทีรัฐบาลผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า รัฐบาลจะยอมเจรจาก็ต่อเมื่อมีการยุติการชุมนุมแล้วเท่านั้น

(เวลา 18.30 น.) ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับมอบหมายจากประธานวุฒิสภา จำนวน 5 คน ประกอบด้วย พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช พลตำรวจโทยุทธนา ไทยภักดี นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง และนางนฤมล ศิริวัฒน์ ได้เดินทางไปยังสี่แยกราชประสงค์เพื่อเจรจากับแกนนำของกลุ่ม นปช. เพื่อนำคำถามของรัฐบาลที่ได้ฝากผ่านท่านประธานวุฒิสภาไปหาคำตอบ และรับทราบเงื่อนไขในการเจรจาและการหาทางออกจากวิกฤติของประเทศ เพื่อนำมาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป และแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความเห็นของวุฒิสภาที่เห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรยุติการเผชิญหน้าและปะทะกันก่อน

การเจรจาระหว่างผู้แทนวุฒิสภาและแกนนำกลุ่ม นปช. มีผลการหารือในประเด็นต่างๆดังนี้

  • 1. แกนนำกลุ่ม นปช. ไม่ขัดข้องในประเด็นที่รัฐบาลร้องขอในเองของการเคลื่อนย้ายรถน้ำมันเนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำออกไปขวางถนน และยินดีที่จะให้มีการเข้าไปช่วยคนเจ็บที่ในวัดปทุมวนาราม
  • 2. แกนนำกลุ่ม นปช. เห็นด้วยและยินดีที่จะปฏิบัติตามในประเด็นของการลดการเผชิญหน้าและการปะทะกันของทุกฝ่าย โดยเสนอให้รัฐบาลถอนกำลังออกจากพื้นที่ชุมนุมในระหว่างการเจรจา (ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ควรเริ่มดำเนินการก่อนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553)
  • 3. แกนนำกลุ่ม นปช. ยินดีและพร้อมที่จะเข้าสู่การเจรจากับรัฐบาลที่จัดโดยวุฒิสภาโดยไม่มีเงื่อนไข
  • 4. หากมีการเจรจาเกิดขึ้น แกนนำกลุ่ม นปช. จะส่งผู้แทนจำนวน 2-3 คน เป็นผู้แทนเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาล และมั่นใจในเอกภาพของกลุ่มตนที่จะเชื่อมั่นในการตัดสินใจของผู้แทน
  • 5. หากผลการเจรจาเป็นที่ยุติและพึงพอใจทุกฝ่าย แกนนำกลุ่ม นปช. ก็ยังมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องของการสลายตัวของผู้ชุมนุม ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจและเพื่อลดอารมณ์ของผู้ชุมนุมลงก่อนการเดินทางกลับบ้าน เพราะมิฉะนั้นอาจจะเกิดปัญหาการยอมรับผลการเจรจา (ที่แกนนำได้ตกลงไว้) ของผู้ชุมนุมได้ ซึ่งการทำเช่นนั้นต้องใช้เวลาบ้าง

ในระหว่างการเจรจาของสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช. นั้น (ประมาณ 19.40 น.) ได้มีแกนนำท่านหนึ่งเข้ามาแจ้งให้ผู้เข้าร่วมหารือทั้งหมดได้ทราบว่า “พรุ่งนี้ ในเวลาตีห้า ทหารจะมาสลายผู้ชุมนุมแล้ว” แต่ทุกคนก็ยังมีความหวังว่า หากผลการหารือในคืนนั้นมีข้อยุติที่ชัดเจนที่สามารถจะมีการเจรจากันได้ในวันรุ่งขึ้นโดยมีวุฒิสภาเป็นคนกลาง และได้มีการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในทันที น่าจะหยุดยั้งการสลายผู้ชุมนุมของรัฐบาลที่จะมีในวันรุ่งขึ้นได้

(เวลาประมาณ 20.15 น.) หลังจากมีข้อยุติที่แกนนำกลุ่ม นปช. ที่พร้อมจะยุติการเผชิญหน้าและเข้าสู่กระบวนการเจรจาแล้ว ผู้แทนวุฒิสภาและแกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงข้อยุตินี้ (โดยมีการถ่ายทอดเสียงออกไปยังผู้ชุมนุมด้วย) ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชุมนุมในระดับหนึ่ง

แต่บังเอิญผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผู้แถลงข่าวได้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของฝ่ายทหาร ทำให้มวลชนผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจและโห่ฮา จนแกนนำ นปช. ต้องชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อลดอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชุมนุม

(เวลา 20.30 น.) พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ในฐานะของแกนนำผู้ที่ได้รับมอบหมายจากวุฒิสภาให้ไปร่วมเจรจา ได้โทรศัพท์รายงานผลการหารือกับแกนนำ นปช. กับประธานวุฒิสภาเพื่อเร่งประสานกับนายกรัฐมนตรีให้รับทราบผลการเจรจาโดยเร็วต่อไป

ประธานวุฒิสภาโด้โทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรีในทันที เพื่อแจ้งผลการหารือของผู้แทนวุฒิสภากับแกนนำ นปช.ที่ยินดีกลับเข้าสู่การเจรจากับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งโดยมีวุฒิสภาเป็นคนกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบและขอบคุณท่านประธานวุฒิสภาที่ได้แสดงเจตนาดีในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง

คืนนั้น ผมจำได้ว่า พวกเราทุกคนกลับไปบ้านด้วยความหวังว่า สถานการณ์บ้านเมืองคงจะจบลงด้วยดีในวันรุ่งขึ้น นปช. หลายคน บอกผมว่า คืนนั้นได้กลับไปนอนที่บ้านอย่างมีความสุขในรอบหลายเดือน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มิได้เป็นไปตามที่พวกเราและหลายๆคนคาดหวัง รัฐบาลได้ใช้อาวุธหนักพร้อมยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการรบอย่างเต็มรูปแบบ เคลื่อนพลเข้าปราบปรามประชาชนเยี่ยงข้าศึกอย่างที่ทุกท่านได้ทราบคำตอบแล้ว