“สมคิด”สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก“คิดแผนพยุงส่งออก”ลุ้นถอยเป้าเหลือเท่าเอกชนต่ำกว่า 3%

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีเข้าหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน(เทรดวอร์)ที่ต่างฝ่ายตอบโต้กันด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ว่า รองนายกฯสั่งการให้ประสานทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งสำรวจตลาด รวบรวมแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกของแต่ละประเทศ ทำข้อมูลผลกระทบว่ามีอะไรบ้าง ผลเสียและผลดีเป็นอย่างไร รวมถึงในแต่ละประเทศจัดทำแผนระยะสั้นและระยะยาวในการผลักดันการส่งออกรายประเทศไม่ให้ต่ำกว่าปีที่ผ่านๆมา รวมถึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุด โดยให้นำข้อมูลทั้งหมดหารืออีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจะเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม(ไทยเฟ้กซ์) โดยรองนายฯจะเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ เพื่อผลักดันการส่งออกครึ่งหลังปี 2562

นางสาวชุติมา กล่าวว่า  แนวโน้มการส่งออกน่าจะลดลงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม 8% ส่วนตัวเลขใหม่จะเป็นเท่าไหร่คงต้องรับฟังสถานการณ์และแนวทางการผลักดันของรายประเทศก่อน รวมถึงนำตัวเลขการประเมินของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ ว่าเทรดวอร์อาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5.6-6.7พันล้านเหรียญฯ หรือกระทบต่อตัวเลขส่งออกประมาณ 2% ด้วย

นางสาวชุติมา กล่าวว่า  ส่วนตัวเลขจะเหลือเท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่ว่าผลกระทบของสงครามการค้าจะยาวแค่ไหน และกลุ่มสินค้าที่ไทยได้ผลกระทบจะเป็นซัพพลายเชนเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งไม่แค่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐและจีนเท่านั้น แต่อาจกระทบถึงคำสั่งซื้อในประเทศอื่นๆที่สั่งซื้อจากไทยแล้วไปผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐและจีนด้วย

” ยอมรับกลุ้มใจต่อสถานการณ์ส่งออก ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย แต่กระทบไปทุกประเทศทั่วโลก ปีนี้รัฐพยายามรักษาไม่ให้ติดลบและน่าจะเติบโตเป็นบวก แต่ตัวเลขอาจต่ำกว่าที่กำหนดไว้ “ นางสาวชุติมา กล่าวและว่าส่วนมาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้รับการร้องขอจากภาคเอกชนหรือผู้ส่งออก

นางสาวชุติมา กล่าวว่า สำหรับแผนรับมือและผลักดันการส่งออกระยะสั้น คือ 1.เน้นการเจาะตลาดเชิงลึกทั้งในตลาดเก่าและตลาดเมืองรอง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อน ก็จะให้ทูตพาณิชย์มารายงานว่ามีความคืบหน้าอย่างไร 2.ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยี 3. ผลักดันกลุ่มอาหารและเกษตร เพื่อทดแทนการส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์ 4. เฝ้าระวังสินค้าต่างประเทศทะลักและลักลอบนำเข้าตามชายแดน หลังจากไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐ จีน หรือทั่วโลกได้

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ส่วนสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของสหรัฐฯ ส่วนนี้ภาคเอกชนไทยสามารถร้องเรียนเพื่อให้สหรัฐฯผ่อนปรนหรือชดเชยได้ เมื่อประเมินแล้วว่าได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสหรัฐฯ

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสนค. อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบต่อการส่งออกและแนวทางขับเคลื่อนส่งออก โดยยึดตามตัวเลขสมมุติฐานส่งออกปีนี้ 3 ระดับ คือ ระดับ ติดลบ 1-2 %ถึงบวก 1-2%  ระดับบวก 1-3% และระดับบวก 3-4% เนื่องจากคาดการว่าการประชุมทูตพาณิชย์หากมีการปรับตัวเลขเป้าหมายผลักดันส่งออกตามนโยบายรัฐ จากเดิม 8% จะให้เหลือไม่ต่ำกว่า 4-5 % และค่าเฉลี่ยมูลค่าการส่งออกจะไม่ต่ำกว่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน

“ เบื้องต้นมีแนวโน้มที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเป้าหมายใหม่ ใกล้เคียงภาคเอกชนที่ประเมินแล้วว่าปีนี้เทรดวอร์ส่งผลต่อการส่งออกทั่วโลก และมีโอกาสที่ไทยจะโตต่ำกว่า2-3% “ แหล่งข่าวกล่าว

 

มติชนออนไลน์