อินโดฯฟื้นแผน “ย้ายเมืองหลวง” ทำไมต้องหาที่ใหม่ ดี-เสียแค่ไหน?

การเลือกตั้งทั่วไปของ “อินโดนีเซีย” เมื่อเดือน เม.ย.2019 “โจโก วิโดโด” หรือ “โจโกวี” สามารถเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้ตามคาด โดยทันทีที่รับตำแหน่งผู้นำอิเหนา ก็เดินหน้าผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคม และหนึ่งในโครงการที่นำขึ้นมาปัดฝุ่นคือ “แผนการย้ายเมืองหลวง” ออกจากเกาะชวา

“จาการ์ตา โพสต์” รายงานว่า โครงการย้ายเมืองหลวงถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโกวี สนใจพื้นที่บนเกาะบอร์เนียว เพราะเป็นศูนย์กลางของหมู่เกาะของอินโดนีเซีย โดยมีการเชิญผู้นำของ 4 จังหวัดมาร่วมประชุม ได้แก่ กาลิมันตันกลาง, กาลิมันตันใต้, กาลิมันตันตะวันออก และซูลาเวซีตะวันตก เพื่อเสนอพื้นที่ที่เหมาะจะพัฒนาเป็นเมืองหลวงใหม่ โดยผู้นำโจโกวี ได้เดินทางไปดูเนินเขา “บูกิต ซูฮาร์โต” ผืนป่าขนาดใหญ่ 618.5 ล้านตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่เมืองกูไตการ์ตาเนอการา และเมืองเปอนาจัมปาเซร์อูตารา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกเนินเขาบูกิต ซูฮาร์โต ในปัจจุบันเป็นจุดเก็บค่าทางหลวง ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 เมืองของกาลิมันตันตะวันออก

ทั้งนี้ โจโกวีกล่าวว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองซามารินดาและบาลิก์ปาปัน เหมาะที่จะพัฒนาสนามบิน ทางหลวง และอื่น ๆ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องสังคมการเมือง รวมถึงทรัพยากรน้ำ ดินพรุ และความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยประธานาธิบดีโจโกวี จะเดินทางไปสำรวจพื้นที่อื่นเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า

“กรุงจาการ์ตา” ประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งจำนวนประชากรขยายตัวซึ่งขณะนี้มีอยู่ราว 30 ล้านคน เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความแออัดที่สุดในโลก นำมาสู่ปัญหาการจราจรติดขัดสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งยังมีปัญหาทางธรรมชาติ เรื่องน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง 6 นิ้ว/ปี และปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง

“บัมบัง บรอดโจเนโกโร” รัฐมนตรีกระทรวงแผนพัฒนาแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้คาดว่าจะใช้เวลา 5-10 ปี ภายใต้งบประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพัฒนาพื้นที่และสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหลวงแห่งใหม่

“อินโดนีเซีย” จำเป็นต้องมีการแยกศูนย์กลางการบริหาร ออกจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า-บริการหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง อินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศล่าสุดในอาเซียนที่ย้ายเมืองหลวง ก่อนหน้านี้มีมาเลเซียและเมียนมา แต่มีปัญหาการย้ายพลเมืองไปเมืองหลวงใหม่ ส่วนภาคธุรกิจบริการและผู้คนยังติดอยู่กับเมืองหลวงเดิม

“เอลิซ่า ซุตานุดจาจา” ผู้อำนวยการแห่งศูนย์การศึกษาจัดการเมืองรูจัค กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า “จาการ์ตามีความคล้ายโตเกียวในทศวรรษที่ 1960 ที่เผชิญปัญหาทั้งการทรุดตัวของหน้าดิน น้ำท่วม แผ่นดินไหว และความแออัด หากต้องการแก้ไขปัญหาต้องเข้าไปจัดการไม่ใช่ย้ายหนี”