“ออกซ์แฟม” ชี้ เอเชียเข้าขั้นวิกฤตความเหลื่อมล้ำ “สิงคโปร์-อินเดีย” มุ่งแก้ไขแต่เหลวไม่เป็นท่า

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศและพยายามมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ขณะที่ช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมระหว่างคนจนกับคนรวยก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามในทุก ๆ ปี “ออกซ์แฟม” (Oxfam) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของอังกฤษ ได้มีการจัดทำรายงานความเหลื่อมล้ำทั่วโลก โดยในปี 2017 ที่จำนวนมหาเศรษฐีเอเชียพุ่งสูง นายมุสตาฟา ทัลปูร์ หัวหน้าโครงการด้านความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ประจำเอเชียของออกซ์แฟม กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมระหว่างคนจนกับคนรวยในภูมิภาคเอเชียเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนหนึ่งมาจากประชากรระดับ “มหาเศรษฐี” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เพิ่มขึ้นราว 29.2% ด้วยจำนวน 784 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และแซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก โดยมหาเศรษฐีในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 727 คน หรือ 11.2% โดยจำนวนมหาเศรษฐีในเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ฮ่องกง อินเดีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ รายงานการสำรวจความเหลื่อมล้ำของโลกฉบับล่าสุด ประจำปี 2018 ของออกซ์แฟมบ่งชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในหลายประเทศเอเชียกำลังอยู่ในระดับ “วิกฤต” ขณะที่จำนวนประชากรเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั่วโลกก็กำลังขยายตัวมากขึ้น โดยประชากรร่ำรวยทั่วโลกราว 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินกว่า 45% ทั่วโลก

“สิงคโปร์และอินเดีย” ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่พบว่าความพยายามแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศได้แย่ที่สุด จากทั้งหมด 157 ประเทศทั่วโลกที่สำรวจโดย “สิงคโปร์” ติด 1 ใน 10 ประเทศรั้งท้ายที่มีผลงานลดความเหลื่อมล้ำแย่ที่สุด โดยอยู่อันดับที่ 149 ส่วน “อินเดีย” อยู่อันดับที่ 147 โดยความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลทั้งสองอยู่ในลำดับใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น สปป.ลาว บังกลาเทศ และมาดากัสการ์

“วินนี ไบยานิมา” ผู้อำนวยการออกซ์แฟม กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับล้มเหลวในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะสิงคโปร์ไม่มีการประกันรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ เหมือนกับประเทศพัฒนาอื่น รวมไปถึงนโยบายเรื่องสิทธิแรงงานระหว่างชายและหญิงที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เช่น แรงงานชายจะมีโอกาสได้รับการปรับขึ้นค่าแรงเร็วกว่าแรงงานหญิง เป็นต้น

โดยรัฐบาลสิงคโปร์ใช้งบประมาณเพียง 39% สำหรับการใช้จ่ายทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และการสร้างความปลอดภัยในสังคม (เกาหลีใต้และไทยใช้จ่ายในส่วนนี้ 50%) ขณะที่ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 150 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในด้านการศึกษาและสาธารณสุขราว 30% เท่านั้น

ผู้อำนวยการออกซ์แฟมกล่าวเพิ่มว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ต้องการยกระดับประเทศสู่ “สมาร์ทซิตี้” ชาติที่ก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ จนทำให้ถูกวิจารณ์ว่า “เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ มากกว่าสิทธิมนุษยชน” นอกจากนี้ มหาเศรษฐีที่มีรายได้หลายพันล้านในหลายประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ สิงคโปร์ พยายามหลีกเลี่ยงภาษี

“เด็กหลายคนตายจากโรคที่สามารถป้องกันได้ เพราะขาดแคลนงบประมาณด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ ขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ และมหาเศรษฐีจำนวนมากกลับเลือกที่จะหลีกเลี่ยงภาษี เพราะประโยชน์ส่วนตน” ไบยานิมากล่าว

ขณะที่ “อินเดีย” เป็นอีกประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ก็ล้มเหลวในการกระจายความมั่งคั่ง และแม้ว่าหนึ่งในแคมเปญหาเสียงหลัก ๆ ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ก็คือ จัดการกับความยากจน รวมไปถึงคู่แข่งทางการเมืองที่ชูโรงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นนโยบายหลักด้วยเช่นกัน

ลำดับที่ 147 ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของอินเดียสะท้อนได้ว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาใหญ่นี้ได้ โดยอินเดียใช้งบประมาณสำหรับการศึกษา สาธารณสุข และความปลอดภัยทางสังคมต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1.3 พันล้านคน ขณะเดียวกัน อินเดียไม่มีกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานหญิง โดยเฉพาะกฎหมายข่มขืนที่ยังอ่อนแอ

สำหรับประเทศที่มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย เนื่องด้วย “อินโดนีเซีย” ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ พยายามสร้างความเท่าเทียมภายในประเทศอย่างจริงจัง ทั้งยังเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข และจัดทำสวัสดิการแห่งรัฐในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่ประชาชน

ส่วน “เกาหลีใต้” ได้รับความชื่นชมจากการที่รัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 16.4% ในปี 2018 รวมถึงเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา และสาธารณสุขมากขึ้น อีก 6%หากเทียบดัชนีความเหลื่อมล้ำทั่วโลก “เดนมาร์ก” ซึ่งอยู่อันดับ 1 เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำที่สุดในโลก ได้รับการยกย่องว่า มีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก รวมถึงนโยบายที่มีต่อแรงงาน และการปกป้องผู้หญิงในสังคมการทำงานที่ดีที่สุดในโลก รวมไปถึงความโดดเด่นทางด้านงบประมาณการศึกษา และสาธารณสุข ที่มีมากถึง 65%

“ออกซ์แฟม” เตือนว่า ไม่ใช่แค่ประเทศในเอเชียที่ล้มเหลวในการลดความเหลื่อมล้ำ การจัดทำแผนพัฒนาเพื่ออุดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำโดยเน้นที่นโยบายการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เพิ่มมาตรการลดภาษีต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และกระจายงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน จะช่วยให้หลุดพ้นจากวิกฤตแห่งความไม่เท่าเทียมได้