ที่มา-ความหมายของพิธีต่างๆใน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขั้นตอนพิธีหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งเรากำลังได้เห็นรายละเอียดทั้งหมดในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ประกอบการพระราชพิธีขึ้นตามโบราณราชประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา

เนื่องในวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวมข้อมูลความหมาย ความสำคัญ และขั้นตอนของพิธีต่าง ๆ ที่ประกอบกันอยู่ในพระราชพิธีใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้

 

พิธีสรงมุรธาภิเษก และพิธีรับน้ำอภิเษก (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

ขั้นตอนการสรงพระมุรธาภิเษกและรับน้ำอภิเษกเป็นพิธีที่สืบเนื่องจากคติโบราณราชประเพณีของพราหมณ์-ฮินดู ที่เรียกว่า พิธีราชาสูยะ เป็นการสถาปนาพระมหากษัตริย์ โดยมีพิธีการสรงมุรธาภิเษกเป็นหัวใจสำคัญของพระราชพิธีนี้

มุรธาภิเษก คือการรดน้ำตั้งแต่พระเศียรลงมา ซึ่งนัยของการรดน้ำคือการทำให้บริสุทธิ์ ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่พระมหากษัตริย์ประกอบพิธีจึงทรงอาภรณ์สีขาว และสรงมุรธาภิเษกด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านพิธีเสกน้ำมาแล้ว น้ำจึงเสมือนสื่อในการยกหรือผลัดเปลี่ยนจากสถานะเดิมสู่สถานะใหม่ คือพระมหากษัตริย์

ในขั้นตอนการสรงพระมุรธาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จากนั้นทรงรับน้ำพระพุทธมนต์จากสมเด็จพระสังฆราช ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกริ่งที่พระปฤษฎางค์ (หลัง) และครอบยันตรนพคุณที่พระหัตถ์ พระบรมวงศานุวงศ์ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ที่พระหัตถ์ พระยาโหราธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้านพเคราะห์ให้ทรงรับไปสรงที่พระอังสาซ้ายขวา พระราชครูพราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ ใบมะตูมทรงทัด และใบกระถินทรงถือ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏตามขัตติยราชประเพณี

เมื่อสรงพระมุรธาภิเษก ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์เสร็จแล้วจึงเสด็จไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์อันมีลักษณะเป็นพระแท่นไม้มะเดื่อแปดเหลี่ยม แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) เป็นปฐม ทรงรับน้ำอภิเษกที่ผ่านการประกอบพิธีเสกน้ำมาแล้ว มีผู้ยืนตามมุมพระแท่นราชบัลลังก์ทั้ง 8 ทิศ พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำและหันพระองค์ไปแต่ละทิศ โดยเริ่มจากทิศบูรพา มีพระมหาราชครูพราหมณ์ยืนประจำ จากนั้นจึงรับน้ำให้ครบทั้ง 8 ทิศ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร โดยเป็นการรับน้ำจากพระหัตถ์

 

พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หมายถึงสิ่งของเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องราชกกุธภัณฑ์มีหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่เรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี วาลวิชนี ฉลองพระบาทเชิงงอน และธารพระกรชัยพฤกษ์ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พระมหาเศวตฉัตร ซึ่งในอดีตเคยเป็นหนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่ปัจจุบันถือเป็นเครื่องประกอบพระราชพิธีในหมวดเครื่องสูงที่ต้องถวายเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับเครื่องประกอบพระราชพิธีในหมวดอื่น ๆ

การประกอบพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์กระทำหลังเสร็จพิธีรับน้ำพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ รับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ พระแสงราชศัสตราวุธ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทรงรับและทรงวางไว้บนโต๊ะ 2 ข้างพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ จากนั้นมีพระปฐมบรมราชโองการ ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรมจริยา เสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ดับเทียนชัย เป็นอันเสร็จพิธี

 

การเสด็จออกมหาสมาคม (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

การเสด็จออกมหาสมาคม เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกที่ประชุมใหญ่ในโอกาสสำคัญขั้นตอนการเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานซึ่งเป็นท้องพระโรงสำหรับทรงว่าราชการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระราชดำรัสตอบรับ จึงเสด็จไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

การประกาศพระองค์เป็นองค์ศาสนูปถัมภก (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานับเป็นพระราชภารกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ มีการปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การสร้างถาวรวัตถุ หรือการแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ ซึ่งจะกระทำภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การประกาศพระองค์เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกเริ่มปรากฏครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 และเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนนี้เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูง ประทับพระราชยานเสด็จโดยขบวนราบใหญ่เพื่อไปประกอบพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเสด็จถึงทรงจุดธูปเทียน และถวายต้นไม้ทอง-ต้นไม้เงินบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชถวายศีล ทรงสมาทานศีลแล้วทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก จากนั้นเสด็จไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร

 

พิธีถวายบังคมพระบรมอัฐิ (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

พิธีถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี เป็นขั้นตอนพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูและความเคารพที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงมีต่อพระบรมราชบุพการี

ขั้นตอนพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร (วันที่ 4 พฤษภาคม 2562)

พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เสมือนเป็นพิธีขึ้นบ้านใหม่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งบ้านใหม่ในที่นี้หมายถึงหมู่พระมหามณเฑียร พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงเป็นการเฉลิมหรือสมโภชหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งมีทั้งส่วนสำหรับว่าราชการ ได้แก่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน และส่วนที่เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ได้แก่ บริเวณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ขั้นตอนพิธีนี้ พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานโดยมีการเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรตามเสด็จ จากนั้นพระมหากษัตริย์จะบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพื่อเป็นมงคลฤกษ์ และประทับแรมอยู่หนึ่งคืน

พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ (วันที่ 5 พฤษภาคม 2562)

พิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย คือขั้นตอนพิธีการประกาศพระนามใหม่ของพระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ส่วนการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์คือ การประกาศเลื่อนพระยศและประกาศพระนามใหม่ของพระบรมวงศ์ ซึ่งยศและศักดิ์ของพระบรมวงศ์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล

ขั้นตอนพิธีนี้ประกอบพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โดยมีพระบรมวงศ์ ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ร่วมพิธี

พิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (วันที่ 5 พฤษภาคม 2562)

การเสด็จเลียบพระนครกระทำขึ้นเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ การแสดงพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมกระบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ด้วยกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ คล้ายกับการยกกองทัพเพื่อทำสงคราม ใช้จำนวนคนอย่างมาก อีกทั้งเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทาสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 6.77 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน

 

ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล (วันที่ 6 พฤษภาคม)

การถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการให้บุคคลสำคัญและประชาชนทั่วไปเฝ้าถวายความยินดีเนื่องในโอกาสมหามงคล โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำศาสนา และผู้แทนคณะพาณิชย์เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออกให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท