ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน! ดัชนีความเชื่อมั่น เม.ย.62 ลดลง คาดศก.ดีขึ้นหากการเมืองเดินตามกรอบ

วันที่ 2 เมษายน 2562 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2562 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 80.6 มาอยู่ที่ระดับ 79.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกที่ยังติดลบในเดือนมีนาคม และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และแม้ว่าค่าเงินบาทไทยในเดือนเมษายนจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 31.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคค่าบาทไทยยังคงแข็งค่า ทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยประกอบในเรื่องของการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ติดลบ สินค้าเกษตรบางรายการยังทรงตัวสูง เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวหอมมะลิ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นปาล์มน้ำมันที่ยังเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจภาคใต้อยู่ในช่วงขาลง จึงทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่โดดเด่นสะท้อนได้จากตัวเลขเงินเฟ้อ 4 เดือนขยายตัว 0.86 % แสดงให้เห็นกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง

โดนดัชนีความเหมาะสมทางการเมืองในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรง ซึ่งต่ำสุดในรอบ 58 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เห็นได้จากหลังมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ดังนั้นจึงทำให้การใช้จ่ายของภาคประชาชนชะลอตัวลงและคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงเดือนมิถุนายน ดังนั้น หอการค้าไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก จะขยายตัวได้ที่ 3.2-3.3 %

ทั้งนี้ หอการค้าไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ที่ 3.8 – 4% ภายใต้สมมุติฐาน คือ การที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมสำเร็จซึ่งจะนำมาสู่การสรรหานายกรัฐมนตรี นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการลดหย่อนภาษี และการโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ให้ขยายตัวได้ 0.3% และหาก กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งได้ในเดือนพฤษภาคม และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามกรอบที่วางไว้

ซึ่งเชื่อว่า จะดึงให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางขาขึ้น แต่หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงและมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียง 3.5 % หรือมีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง