“ไทยพาณิชย์” เผยศก.ไทยไตรมาสแรกชะลอตัว หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 3.6%

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดย SCB-EIC คาดการณ์จีดีพี (GDP) ในปี 2562 อยู่ที่ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ตลอดปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Monetary Policy Gap) ระหว่างสหรัฐฯ และไทย

ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นหลักต่างๆ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Low Volatility และ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้ม Outperform หุ้นกลุ่ม Cyclical ในเศรษฐกิจ Late Cycle ตลาดหุ้นยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน ขณะที่ประเด็น Brexit ยังยืดเยื้อ ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นจีน

โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีน อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นจีน A Share ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% นับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ Upside ปรับลดลง และอาจมีความเสี่ยงจากการถูกขายทำกำไร ดังนั้นแนะนำให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างอิงผลตอบแทนขาขึ้นตามดัชนีตลาดหุ้นจีน แต่มีการ Protect Downside เช่นstructure note หรือ structure funds

ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทองคำควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก ประกอบกับนักลงทุนเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และขายทองคำหลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นส่วนน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจำกัด เนื่องจากตลาดรับรู้ประเด็นที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านไปพอสมควรแล้ว และกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบีย สามารถกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยไม่คงนโยบายลดกำลังการผลิตอีกต่อไป เนื่องจากราคาดึงดูดให้ผลิตเพิ่ม นายศรชัย กล่าว

ด้าน นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังคงชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วง 3 – 6 เดือนข้างหน้า หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน คลีคลายลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ของโลกจะออกมาต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ จีน และน่าจะตามมาด้วย ยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกกลับมาสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง

อีกทั้งสภาพคล่องการเงินโลกไม่ได้ลดอย่างที่คาดทำให้แรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ลดลง สำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทย ด้วยภาพรวมหลังเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะผันผวนในช่วงที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งอาจใช้ระยะเวลาทั้งไตรมาส 2/2562 และหลังจากมีความชัดเจนแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกและทิศทางของผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ประเมินว่า SET Index มีโอกาสลดลงไปได้ที่ 1600 หรือ 1550 จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองแต่ยังคงยืนยันเป้าหมายของปี 2562 ที่ระดับ 1700 – 1800 จุด

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทยมองว่า SET จะมี downside จำกัด และไม่คิดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว เดือน ก.ค. ที่ 1600 จุด และ เดือน ธ.ค. ที่1550 จุด เนื่องจากภาวการณ์ลงทุนและsentiment ในตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก แต่ upside ก็ไม่สูงมากมองที่ระดับ 1700 – 1800 จุด โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ราคามีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตลาดจะคลายความกังวลหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้

ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพียงการเมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และ ในยุโรป เป็นต้น ดังนั้นโซนเข้าซื้ออยู่ระหว่าง 1550 -1600 จุด ในขณะที่โซนขายอยู่ระหว่าง 1750 – 1800 จุด หรือ 8 – 10% จากระดับปัจจุบัน

นายสาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในช่วงปี 2562 และแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต จะเห็นได้ว่ากรมสรรพากรเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการออกกฎหมายภาษีอากรใหม่ๆ ที่ต้องการให้ผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดารวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน

โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษี และสร้างรูปแบบการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้มีการออกมาตรการทางภาษีอากรโดยในหลายๆมาตรการได้มีผลใช้บังคับแล้ว และบางมาตรการก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจรวมทั้งมีข้อสงสัยและข้อซักถามในทางปฏิบัติจากประชาชนเป็นอย่างมาก อาทิเช่น 1.ร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จาก “กองทุนรวม”สำหรับ “รายได้ดอกเบี้ย”

2.กฎหมายภาษี e-Payment การรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรม ลักษณะเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48)พ.ศ. 2562

และ 3.มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตาม พ.ร.บ.ฯยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 4.อื่นๆ เช่น e-Tax invoice/e- Receipt,e-Witholding Tax ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562