อธิบดีคุมประพฤติ เผยสถิติคดีเมาขับช่วงสงกรานต์ปี’62 เพิ่มจากปีก่อน พบทำผิดซ้ำ 236 ราย

อธิบดีคุมประพฤติ เผยยอดสถิติคดีเมาขับ ช่วงสงกรานต์ปี’62 เพิ่มขึ้นจากปี’61 ติดกำไล EM 490 คน พบทำผิดซ้ำ 236 ราย

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่กรมคุมประพฤติ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พร้อม นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวสถิติคดี “ดื่มแล้วขับ ขับขี่โดยประมาท ถูกจับคุมประพฤติ” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562

อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2562 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 117 แห่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 12,810 คดี แบ่งเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 12,325 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.21 คดีขับเสพ จำนวน 469 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.66 ขับรถประมาท จำนวน 16 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.13 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุรา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 232 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.85 สำหรับจังหวัดที่มีสถิติสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 714 คดี กรุงเทพมหานคร จำนวน 656 คดี จังหวัดสกลนคร จำนวน 585 คดี โดยส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อบรมระเบียบวินัยจราจร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ห้ามออกจากบ้านตามช่วงเวลากำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว เป็นต้น

นายประสารกล่าวอีกว่า ศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในช่วง 7 วัน ที่มีการควบคุมเข้มงวด จำนวน 490 ราย แบ่งเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 489 ราย คดีขับเสพ จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้กระทำผิดซ้ำ จำนวน 236 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.84 ซึ่งกรมคุมประพฤติจะดำเนินการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราหรือติดสุราแล้ว จะส่งต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพต่อไป หรือเสนอความเห็นต่อศาลเพิ่มเงื่อนไขในการสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการติดสุราระดับกลางหรือระดับต่ำ จะจัดให้ทำงานบริการสังคมและรับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและการลดเลิกแอลกอฮอล์

นายประสารกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการบังคับโทษตามคำสั่งศาลของกรมคุมประพฤติกับผู้กระทำผิดซ้ำแต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องส่งบำบัดและผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงสูง จะเข้าโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูตามประเภทความเสี่ยง ในส่วนมาตรการทำงานบริการสังคมตามที่ศาลมีคำสั่ง กรมคุมประพฤติจะให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมในสถานพยาบาล การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เพื่อดำเนินกิจกรรมการกระตุ้นจิตสำนึกและรับทราบถึงความสูญเสียต่างๆ รวมถึงสภาพของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุทางถนนที่บ้านพักอาศัย โดยเชื่อมโยงประสานกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ

ด้าน นพ.อัษฎางค์ระบุว่า สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดเป็นผู้ขับขี่ที่เมาสุรา โดยเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าบำบัดรักษา จำนวน 16 ราย ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเข้ารับการบำบัดตามกำหนดทุกครั้ง ส่วนโครงการนำร่อง “บำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562” เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพ โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีเป็นผู้เสพติดสุราและมีปัญหาซับซ้อน จะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และในกรณีผู้มีอาการทางจิตรุนแรง ส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต

นพ.อัษฎางค์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระดับความเสี่ยงสูง หรือผู้ติดสุรารุนแรงและเรื้อรัง สามารถลด ละ เลิกการดื่มสุรา ตลอดจนสุขภาวะดีทั้งกายและใจอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก สำหรับผู้เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลตามโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ในเบื้องต้นจำนวน 12 ราย

 

มติชนออนไลน์