ประธานบอร์ดกพฐ. หนุนคลอด ‘พ.ร.ก. การศึกษาแห่งชาติ’

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลเห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… เป็น พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… เพื่อเร่งประกาศใช้ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย ว่าควรเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ  อีกทั้งการออกเป็นพ.ร.ก. หรือพ.ร.บ. ก็มีศักดิ์ศรีทางกฎหมายเท่าเทียมกัน เพียงแต่ พ.ร.ก. รัฐบาลประกาศใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามหากรอไปรัฐบาลหน้า อาจจะเกิดปัญหา อย่างน้อยคือ เรื่องระยะเวลา ซึ่งสภาฯ ต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดูรายละเอียดมาดูแล้ว ก็อาจมีการเสนอปรับแก้ ทำให้กฎหมายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน และนักวิชาการออกมาคัดค้านเรื่องนี้นั้น ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่ค้าน ไม่ใช่หลักการใหญ่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีการกำหนดชื่อตำแหน่ง ครูใหญ่ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องแล้วว่า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถกำหนดชื่อตำแหน่งอื่นได้ เพียงแต่ในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ จะใช้ชื่อตำแหน่งครูใหญ่  ขณะที่ข้อดี นอกจากเดินหน้าเรื่องปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต่อไปไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารทางการศึกษา แต่กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ประสบการณ์เข้าทำงาน เช่น กำหนดให้ผู้คุณสมบัติเป็นครูใหญ่ หรือ ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเคยเป็นครู หรือทำงานบริหาร หรือมีตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่มาก่อน เป็นต้น

“การกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตฯ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยที่ผ่านมามีครูกว่า 80% ทิ้งการสอนในห้องเรียน ไปเรียนปริญญาโท บริหารการศึกษา เพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ รอสอบเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร แต่พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ กำหนดชัดเจนว่า ต้องเคยเป็นครู และผ่านงานบริหารมาก่อน ที่สำคัญยังทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทบริหารการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อหากินลดลง  ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ หรือคนที่ทำงานฝ่ายงานบัญชีการเงิน มีช่องทางเติบโต สามารถเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ได้  ซึ่งหากไม่ใช่ครูก็ไม่มีสิทธิขึ้นเป็นครูใหญ่ และในอนาคตจะให้ครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน สามารถเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียนได้เอง เพื่อแก้ปัญหาการย้ายรองผู้อำนวยการโรงเรียน อีกทั้งยังทำให้ครูใหญ่สามารถเลือกคนที่จะทำงานร่วมกันได้ ไม่เกิดปัญหา ”นายเอกชัยกล่าว

มติชนออนไลน์