“เรืองไกร” ร้องศาลรธน.ไม่ให้รับคำร้องของ กกต. วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 เมษายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ไม่รับพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ที่ขอให้ศาลฯวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถดำเนินการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ที่การคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้า ลักษณะเป็นการขอคำปรึกษา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งที่ 1/2561 ลงวันที่ 26 มกราคม 2561 เรื่อง กกต.ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกกต.ตามรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.แต่ละคนจะใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกหรือระงับการเลือกตั้ง ของหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งที่พบการกระทำความผิด โดยในคำสั่งดังกล่าวศาลเห็นว่า ตามคำร้องของกกต.ยังเป็นเพียงข้อสงสัย ข้อหารือ หรือการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. คำร้องของ กกต. จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง ที่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า กกต.จะสามารถดำเนินการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 128 โดยการคิดคำนวณดังกล่าว อาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ได้ข่าวว่าทางองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญชุดเล็กมีความเห็นว่าจะรับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่ง กกต.ได้ยื่นเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่แปลก ถ้าเทียบกับสมัยไทยรักษาชาติ เพราะตอนนั้นศาลทั้งแถลงข่าว แต่การที่ กกต.ยื่นเรื่องนี้ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต.จะใช้สูตรใดมาคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้ผู้รู้มากมายทั้งฝ่ายกฎหมาย ครม. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือกระทั้งอาจารย์ผู้รู้ช่วยกันวิจารณ์ ตนมองว่าเรื่องนี้มันวินิจฉัยได้ไม่ยาก และทำให้สภาวะการเมืองไม่ต้องมาฝันหวานกัน ที่ฝันว่าข้างนั้นข้างนี้จะตั้งรัฐบาล ซึ่งคำร้องของตนนี้อาจจะทำให้ฝันละลายก็ได้ เพราะถ้ายื่นไปแล้วศาลเห็นด้วย การที่กกต.จะรับรอง ส.ส.เขตให้ได้ร้อยละ 95 ก่อนแล้วค่อยมารับรองส.ส.บัญชีรายชื่อคงจะไม่ทันวันที่ 9 พฤษภาคม ฉะนั้นถ้าจะยืดอายุต่อเวลาก็ต้องไปเอาความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมาดู ตนก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า กกต.ยังมีเวลา แต่ถ้า กกต.ไม่มั่นใจและประกาศผลไม่ทัน เลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจจะทำให้บรรดาพรรคการเมืองฝันไม่ใกล้ความจริงมากหนักก็ต้องขออภัยที่คำร้องของตนจะไปกระตุ้นอารมณ์ของใคร แต่ตนไม่ใช่งูเห่างูเขียวเป็นเพียงคนร้องคนหนึ่งเท่านั้น
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญถือตามเหตุเดิมนั้นก็ไม่น่าจะรับคำร้องของ กกต. ซึ่งในวันที่ 24 เมษายนนี้ องค์คณะชุดเล็กจะส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหญ่พิจารณานั้น ต้องบอกว่าท่านคงรับเรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าดูตามมาตรฐานของศาล เว้นแต่จะมีเหตุผลอย่างอื่น ซึ่งถ้าองค์คณะศาลฯทั้ง 9 ท่านรับ ท่านก็ต้องแสดงความเห็นส่วนตัวทั้ง 9 คน

มติชนออนไลน์