ชงรมต.อาเซียนเซ็นMRA เอื้อส่งออกรถยนต์หลังค้างถึง13ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนได้เห็นชอบการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN MRA on Type Approval for Automotive Products) ซึ่งเป็นประเด็นที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาเซียนได้ตกลงจะจำกัดขอบเขตของสินค้าผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในความตกลงดังกล่าวให้ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ผลิตภายในอาเซียน และได้ตกลงให้ทบทวนเรื่องนี้ในปีที่4 หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับว่าจะมีการขยายขอบเขตไปถึงผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ผลิตนอกอาเซียนหรือไม่ โดยมอบให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานคุณภาพของอาเซียนและคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และยานยนต์จัดทำถ้อยคำทางกฎหมายที่จะปรากฏในเอกสารความตกลงตามแนวทางที่อาเซียนสรุปกันต่อไป และจะเสนอให้มีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 ที่จะกำหนดกรอบเวลาบังคับใช้ต่อไป

“ เรื่องนี้อาเซียนคุยกันมานานกว่า 13 ปี ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งไทยได้ใช้จังหวะที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้ทำการผลักดันให้อาเซียนเห็นตรงกันว่าเรื่องการทำ MRA สำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียนเป็นเรื่องที่จำเป็น และสำคัญต่อการค้าขายสินค้ายานยนต์และผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในอาเซียน และการทำให้อาเซียนยอมรับมาตรฐานร่วมกัน จะทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไปยังตลาดอาเซียนได้เพิ่มขึ้น เพราะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน ”

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่จะมีการยอมรับผลการตรวจสอบระหว่างกัน เช่น ระบบเบรก ชุดเข็ดขัดนิรภัย ที่นั่ง ยางล้อ ระบบปล่อยไอเสีย อุปกรณ์บังคับเลี้ยว มาตรวัดความเร็ว การปล่อยไอเสีย ชุดกระจกนิรภัย เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญในตลาดอาเซียน โดยการยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบของไทย ทำให้ไม่ต้องไปตรวจสอบซ้ำอีกในประเทศอาเซียนที่ไทยส่งออกไป ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน และทำให้การส่งออกมีความสะดวกขึ้น ทั้งนี้ปี 2561 ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังตลาดอาเซียนรวมมูลค่า 253,339 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังตลาดอาเซียน

นางอรมน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีความตกลง MRA ที่อาเซียนได้ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว คือ ความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาสำหรับบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาเซียนได้ยอมรับรายงานผลการทดสอบของหน่วยงานในอาเซียนทั้งหมด 21 แห่ง เป็นของไทย 6 แห่ง และหน่วยงานรับรองของอาเซียน 9 แห่ง ของไทย 1 แห่ง และความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมสำหรับการตรวจสอบแนวทางการผลิตที่ดีของผู้ผลิตสินค้าเภสัชกรรมของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นหน่วยงานที่ให้บริการประเมินการรับรองและออกเอกสารรายงานผลการตรวจสอบ ออกใบรับรอง GMP จำนวน 4 แห่ง ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์ โดยในส่วนของไทยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับผิดชอบ

นางอรมน กล่าวว่า นอกจากนี้ อาเซียนได้จัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขาอาหารสำเร็จรูป ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารไปอาเซียนสะดวกขึ้นและส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะหากสินค้านั้นได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันแล้วจะไม่ต้องตรวจสอบอาหารนั้นที่ส่งออกอีก พร้อมได้ทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขาวัสดุก่อสร้าง ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เหล็ก ปูนซีเมนต์ และกระจก และความตกลงยอมรับร่วมสำหรับรายงานการศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยาสามัญของอาเซียน เพื่อให้อาเซียนนำข้อมูลไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนยาสามัญ

มติชนออนไลน์