‘ปิยบุตร’ ย้อนอดีตรำลึก ไทยก้าวหน้ากว่าฝรั่งเศสเรื่องสิทธิเลือกตั้งผู้หญิง ผลจากรธน.2475

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก รำลึกเรื่องสิทธิของผู้หญิง โดยระบุว่า ไทยก้าวหน้ากว่าฝรั่งเศสในเรื่องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง

วันนี้ 21 เมษายน ครบรอบ 75 ปี ที่ผู้หญิงฝรั่งเศสได้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ประเทศฝรั่งเศส ที่ถูกหยิบยกอ้างว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ต้นแบบของกฎหมายมหาชน ต้นแบบของลัทธิการเมืองต่างๆ แต่ผู้หญิงกลับถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันให้ออกไปจากการเมืองอย่างช้านาน

ตั้งแต่ปฏิวัติ 1789 สิทธิการเลือกตั้งถูกสงวนไว้กับผู้ชายที่เสียภาษีถึงเกณฑ์เท่านั้น จนกระทั่งปี 1848 ผู้ชายถึงมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปเท่าเทียม

ในส่วนของผู้หญิง ต้องรอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าผู้หญิงฝรั่งเศสจะได้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในช่วงปลดปล่อยฝรั่งเศสเป็นอิสรภาพจากการยึดครองของเยอรมนี รัฐบาลชั่วคราวได้ตรากฎหมายลงวันที่ 21 เมษายน 1944 กำหนดให้ “ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับผู้ชาย”

1 ปีต่อมา ผู้หญิงฝรั่งเศสได้ลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1945

สำหรับเรื่องสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปเท่าเทียมนั้น ประเทศไทยของเรา “ก้าวหน้า” และ “มาก่อน” ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในโลกนี้มาก

ภายหลังปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก คือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ได้รับรอง “สิทธิการเลือกตั้งทั่วไปเท่าเทียม” ให้กับคนไทย โดยไม่เลือกปฏิบัติจากเพศ รายได้ หรือการเสียภาษี รัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งหลังจากนั้นทุกฉบับ ก็รับรองไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ผู้หญิงก็มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว

ประเทศไทยรับรองสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิงก่อนประเทศฝรั่งเศส 12 ปี

ผู้หญิงไทยได้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนก่อนผู้หญิงฝรั่งเศส 12 ปี

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่มีการเลือกตั้ง

นี่คือ สิ่งที่ประเทศไทยควรภาคภูมิใจ เราสามารถแสดงให้เห็นต่อสากลว่า ในเรื่องประชาธิปไตย เรามีความก้าวหน้าและมาก่อนประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งในโลกตะวันตก

นี่คือ “ความเป็นไทย” ที่เชิดหน้าชูตาได้ในสากล

น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ สิทธิการเลือกตั้ง และความสำคัญของการเลือกตั้งในฐานะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งอำนาจของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในการกำหนดชะตากรรมของประเทศร่วมกัน กลับถูกบั่นทอนทำลายความชอบธรรมลงไปเรื่อยๆ

มติชนออนไลน์