‘บลูมเบิร์ก’ บอกเอง ไทยทุกข์ยากน้อยสุดแต่ไม่น่าสนใจ เหตุตัวชี้วัดน่าเชื่อน้อยกว่า

เมื่อวานนี้ (20 เมษายน 2562) จากการเปิดเผย ดัชนีความทุกข์ยากประจำปี 2019 ของ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งประเทศไทยรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือดบนโลกออนไลน์

โดยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นค้าน หลายคนระบุว่าค่าครองชีพสูงขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี ลูกจ้างโรงงานถูกปลดจำนวนมาก เงินเดือน-รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ และอีกส่วนกล่าวในเชิงประชดว่าไทยมีคนทุกข์ยากน้อยจริงๆ แต่ที่เหลือเกือบทั้งประเทศเป็นคนที่ทุกข์ยากมาก

นอกจากการเปิดเผยก่อนหน้านี้ของ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุว่า “ไทยมีค่าคะแนนความทุกข์ยากที่ระดับ 2.1 ต่ำสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2018 ขณะที่ผลสำรวจคาดการณ์ดัชนีปี 2019 ของบลูมเบิร์ก พบว่า ไทยยังคงรั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 2.1 เช่นเดิม”

อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นเดียวกันนี้ของบลูมเบิร์ก ยังมีข้อความอีกส่วนที่ระบุว่า

แม้ประเทศไทยจะครองอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดอีกครั้ง แต่วิธีการการนับอัตราคนว่างงานของรัฐบาลที่ไม่เหมือนใครเป็นส่วนที่ทำให้คะแนนน้อยลง และส่งผลให้การรั้งตำแหน่งของไทยไม่น่าสนใจ เท่ากับการพัฒนาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปรับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 และสิงคโปร์ที่ยังสามารถอยู่ใน 3 อันดับประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกได้

ดัชนีความทุกข์ยากของบลูมเบิร์กเป็นการคำนวณจากแนวคิดเดิม โดยประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานที่ต่ำ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับในปี 2019 เป็นผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต่างจากปีก่อนๆ ที่ใช้ข้อมูลจริงรายปี

และบางครั้ง แน่นอนว่า ตัวเลขที่ต่ำสามารถก่อให้เกิดความไขว้เขวได้ในหลายประเด็น อาทิ ราคาสินค้าต่ำอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) ที่น้อยมาก หรือตัวเลขการว่างงานที่ต่ำเกินไปนั้นถือเป็นอุปสรรคสำหรับแรงงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพที่ดีขึ้น”