“พ.ร.บ.กสทช.” ใหม่ ไฟเขียว “กสทช.” ดูแลดาวเทียม-ไม่ต้องประมูลคลื่น

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค เปิดเผยถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 มีเนื้อหาของกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 อาทิ การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียม โดย กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติชาติ ขณะเดียวกัน มีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาต การสละสิทธิในกรณีที่การรักษาสิทธิดังกล่าวก่อให้เกิดภาระแก่รัฐเป็นประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งมีอำนาจในการอนุญาตและกำกับการประกอบกิจการโดยใช้ของสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (แลนดิ้ง ไลท์)

นอกจากนี้ ได้กำหนดเพิ่มเติมให้ กสทช. เป็นหน่วยงานอำนวยการของรัฐที่มีอำนาจบริหารกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ตามที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. เช่น องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่ยังมีปัญหาการตีความที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนว่า กสทช. เป็นหน่วยงานอำนวยการของรัฐในกิจการสื่อสารระหว่างประเทศเฉพาะด้านการบริหารคลื่นความถี่เท่านั้นไม่รวมถึงด้านอื่นๆ ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป

ทั้งนี้ ยังกำหนดสัดส่วนให้มีการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสำหรับภาคประชาชนรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง ซึ่งเดิมไม่มีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำ และให้อำนาจการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของ กสทช. จากการลงมติของวุฒิสภา เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยกเลิกมาตรา 20 วงเล็บ 6 และกำหนดให้ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ กสทช. จัดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อใช้ในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรือระงับเหตุ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้รับแจ้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรือระงับเหตุฉุกเฉิน สามารถเข้าถึงหรือเปิดเผยพิกัดตำแหน่งหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งหรือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินโดยไม่มีความผิด ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือหรือระงับเหตุฉุกเฉินหรือเพื่อตรวจสอบผู้กระทำความผิด

สำหรับบทลงโทษกรณีมีผู้ใช้หรือเรียกเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติโดยไม่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีพฤติกรรมก่อกวน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงเป็นความผิดทางอาญาโดยต้องระวางโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ เดิมปรับทางปกครองไม่เกิน 10,000 บาท

ทั้งนี้ ยังเพิ่มเติมอำนาจ กสทช. ในการออกประกาศอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เปิดกว้าง การใช้งานได้ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่สามารถใช้คลื่นประกอบการได้ อย่างไรก็ดี ในระยะแรกบทบัญญัตินี้ยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่า กสทช.จะมีความพร้อมที่จะดำเนินการ และให้เสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับ โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกา กสทช. จะต้องจัดทำแผนการดำเนินการและกำหนดกรอบระยะเวลาที่แน่นอนในการตราพระราชกฤษฎีกา และให้มีการรายงานผลการเตรียมความพร้อมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาทราบทุก 6 เดือนและเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบด้วย

“กสทช. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ เพื่อทำหน้าที่ 1.จัดทำแผนการบริหารสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 2.ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และ 3.หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยมีการประชุมแล้ว 3 ครั้ง คาดว่า ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562 จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. และเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ จากนั้นนำเรื่องประกาศในราชกิจจานุเบกษต่อไป” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดเพิ่มเติมให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ กสทช. อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่นั้นของผู้โอนสิ้นสุดลง และให้ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้รับโอนตามลักษณะ ประเภท และขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมของผู้โอนดังกล่าว

มติชนออนไลน์