ค้านออก ‘พ.ร.ก.การศึกษาชาติ’ หวั่นอนาคตขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้กฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ หลายฉบับไปแล้วนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศธ. เหลือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และร่างพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ….  ส่วนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อเสนอที่ให้ประกาศใช้พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ..ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ โดยออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)นั้น ตามขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องส่งเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ  ซึ่งส่วนตัวคงไม่สามารถออกความเห็นได้เห็นด้วยหรือไม่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยกร่างตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงไม่สามารถพูดอะไรได้ในตอนนี้

นายสมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์ประคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเร่งดำเนินการประกาศใช้ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ถือเป็นเรื่องดี แต่หากเร่งรีบมากเกินไป อาจเป็นผลเสียระยะยาว โดยต้องยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ฉบับนี้ยังมีคำถามและความเห็นที่ไม่ตรงกันในหลายมาตรา  หากเร่งดำเนินการ โดยที่ยังมีความเห็นแตกต่าง อาจกลายเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต

“การออกเป็นพ.ร.ก. ต้องมีความรอบคอบ มีความเห็นที่เป็นฉันทามติร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ เพราะยังมีคำถาม และมีหลายมาตราเป็นปัญหาที่ยังไม่ยอมรับร่วมกัน อาทิ การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นอาจารย์ใหญ่ หรือครูใหญ่  การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น เรื่องนี้อยากให้มองรอบด้าน ด้านหนึ่งจำเป็นต้องเร่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าไปได้ เพราะกฎหมายลูกบางส่วนประกาศใช้แล้ว แต่หากเร่งดำเนินการแล้วเป็นปัญหาและอุปสรรค ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ควรชะลอไว้ก่อน แม้รอประกาศใช้ในรัฐบาลหน้าก็ไม่สายเกินไป  เพื่อให้ได้ฉันทามติที่เป็นความเห็นพ้องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน “นายสมพงษ์กล่าว

นพ.อุดม  คชินทร  รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลเห็นชอบแล้วให้ออกเป็นพ.ร.ก. รอเพื่อช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ผ่านมาทั้งศธ. และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ. ) ยืนยันว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ประกาศใช้ เบื้องต้นคิดว่า ทันภายในรัฐบาลนี้ ส่วนข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังมีความขัดแย้งอยู่นั้น มีเพียงส่วนน้อย แต่หลักการส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญ ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ และเห็นพ้องร่วมกันหมดแล้ว ดังนั้นก็ควรเดินหน้าต่อไป

มติชนออนไลน์