ค่ายมือถือคิดหนัก “ม.44” มีคำขาด!! ยืดจ่ายหนี้คลื่น 900 ต้องเข้าประมูลคลื่น 700 ไม่งั้นอด

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) และผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้าหารือ เพื่อชี้แจงในรายละเอียดการช่วยเหลือ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายออกไป 6 งวด รวมเป็น 10 งวด (10 ปี) งวดละเท่าๆ กัน จากเดิมที่ต้องชำระ 4 งวด โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ได้ ตามคำสั่งหรือประกาศเริ่มนับเป็นงวดแรก และเมื่อสำนักงาน กสทช. พิจารณาแบ่งเงินประมคลื่นความถี่ที่ต้องชำระในแต่ละงวดได้แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ตามงวดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สำหรับงวดที่ต้องชำระในปี 2563 ให้ชำระรวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 278,317 ล้านบาท จากเดิมที่รัฐจะได้รับ 203,317 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาต จะต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะเปิดการประมูลเพื่อให้สำหรับรองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่รับเงื่อนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ประกอบการจะต้องกลับสู่เงื่อนไขเดิม คือการชำระค่าใบอนุญาตตามกรอบระยะเวลาเดิมที่ได้กำหนดไว้

“ผู้ประกอบการโทรคมนาคม สามารถแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตได้ ภายในวันที่ 10 พฤษาคม 2562 ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้รูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการแทนรูปแบบการประมูล ซึ่งคาดว่า จะสามารถสรุปหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ได้ ภายในปลายเดือนพฤษภาคม เบื้องต้นประเมินว่า จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ (รวม 3 ค่าย เป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และจัดการสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ได้ในเดือนมิถุนายน 2562 โดยเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า และสามารถใช้งานได้ 1 ตุลาคม 2563 จากนั้นจึงนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ กสทช. มีแผนที่จะมีการจัดสรร ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ คลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ โดยการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) คาดว่า จะจัดการประมูลในปี 2562 ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งต้องมีการนำเข้าที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือครองอยู่จำนวน 200 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากประเมินว่า คลื่นความถี่จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานของไทยคม และเนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้กำกับดูแล จึงต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทครับทราบการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป ซึ่งดีแทคจะหารือกับทาง กสทช. เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นในเรื่องมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป

“ยังยืนยันตามเดิม คือ ดีแทคสนับสนุน กสทช. ในการจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาที่จะนำคลื่นมาจัดสรรล่วงหน้า และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ทั้งหมดที่จะถูกนำมาจัดสรรอย่างเหมาะสม ก่อนที่จะดำเนินการประมูลครั้งต่อไป” นายราจีฟ กล่าว

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิ์ไปก่อน จากนั้นจึงพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งการกำหนดวันประมูลในเดือนมิถุนายน 2562 นั้น ยอมรับว่า เป็นระยะเวลาที่สั้นต่อการเตรียมตัว

ความจำเป็นในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ แตกต่างจากคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ครั้งนั้น เอไอเอส จำเป็นต้องเข้าร่วมการประมูล เพราะมีลูกค้าใช้งานอยู่ในระบบ แต่ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมารองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก และหากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ตื่นตัว การเปิดให้บริการน่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี ซึ่งไม่ใช่ในปี 2563

นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และจากภาระที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า รายได้หลังจากการประมูลไม่ดีขึ้น ช้าลงหรือแทบไม่เติบโตขึ้นเลย ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสูญเสียรายได้ 400,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรา 44 นี้ เป็นเรื่องใหม่ จึงรู้สึกเป็นกังวล ดังนั้น การตัดสินใจจึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

มติชนออนไลน์