ชาวขอนแก่นหนุนกัญชาทางการแพทย์ เรียกร้องปลดล็อคเพื่อใช้อย่างจริงจัง

วันที่ 18 เมษายน 2562 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายพลเมืองขอนแก่น พร้อมด้วยแกนนำคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน ,สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ,สมาคมไทสิขา, เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, ศูนย์ประสานงานค้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกันเปิดเวทีเสวนา “พืชยา กัญชารักษาโรคเพื่อประชาชน” พร้อมอ่านแถลงการณ์สนับสนุนการใช้พืชยา กัญชาทางการแพทย์ โดยระบุว่า กัญชาเป็นพืชยา หรือสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์รู้จักเมื่อหลายพันปีก่อนในสังคมไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้กัญชาในการรักษาโรค กล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ศาสนา และมีการกระจายตัวไปทั่วโลก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา ยุคสมัย สภาพทางสังคม การปกครอง และระบบทุนนิยมครอบครองผูกขาด กลับทำให้บทบาทของพืชยากัญชาในสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากพืชที่มีประโยชน์กลายเป็นสิ่งเสพติด ผิดกฎหมายทำลายสังคม โดยใช้วิธีหลากหลายทั้งการออกกฎหมายจัดการ รณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงความเลวร้ายของกัญชา เช่น กัญชาคือฆาตกรหรือเป็นต้นตอของอาชญากรรมเป็นต้น ล่วงเลยจนถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า เครือข่ายพลเมืองขอนแก่น ได้ประชุมหารือและมีการเรียกร้องการปลดล็อคกัญชาใน 5 ข้อ ประกอบด้วย การนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเป็นกฎหมายเฉพาะที่เป็นพืชยา เปิดโอกาสให้มีการใช้และการศึกษาวิจัยทั้งทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างกว้างขวาง การที่หน่วยงานรัฐต้องไม่รวมศูนย์ ผูกขาดอำนาจการจัดการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและมีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความร่วมมือในการแก้ไขกฎระเบียบ และเอื้อให้องค์กรภาคประชาชนมีองค์ความรู้ด้านนี้ร่วมพัฒนาต่อยอดขยายผลต่อไป

“การให้กัญชาเป็นพืชยาสมุนไพร ที่ทุกครัวเรือนสามารถปลูกได้เข้าถึงได้ โดยส่งเสริม สนับสนุน การปลูก แปรรูป จำหน่าย และส่งออกยังต่างประเทศ เพื่อเป็นรายได้เข้าครัวเรือน การที่ รัฐสนับสนุนเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เป็นผู้ป่วย คนใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อทางการแพทย์ให้สามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีและรัฐที่ดีควรเปิดโอกาสให้ทำได้ และสุดท้ายคือการให้มีการผลิตและใช้กัญชาในการรักษาโรคที่มีคุณภาพ สะดวก ราคาถูก และปลอดภัย ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่าแท้จริง”

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า 4 กลุ่มโรคที่จะนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งจากปลอกหุ้มประสาทอักเสบ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการลมชักรักษายาก และกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดระบบประสาทเรื้อรังไม่สามารถบรรเทาเบาบางด้วยการรักษาในปัจจุบัน ซึ่งในการกำหนด 4 กลุ่มโรคนี้ได้อิงจากการศึกษาวิจัยจากในหลายประเทศ แต่ทางสหประชาชาติยังกำหนดให้เป็นยาเสพติด ทำให้การศึกษาทำได้ไม่เต็มที่ เพราะประชาชนแต่ละประเทศมีการใช้กัญชารักษากันเอง การสั่งจ่ายยากัญชามีขอบเขต เช่น ในโรคพากินสัน อัลไซเมอร์ วิตกกังวง นอนไม่หลับ มีความเครียด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้การรักษาจะต้องมีการศึกษาวิจัยที่แท้จริงและเป็นไปอย่างกว้างขวาง เพราะการศึกษาในระดับนานาชาติมีการวิจัยยืนยันว่า พืชยากัญชาสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้จริง

 

มติชนออนไลน์