“อัยการธนกฤต”เปิดข้อสังเกต กม.ข่าวกรองฉบับใหม่ สุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิเสรีภาพตาม รธน.

“อัยการธนกฤต”เปิดข้อสังเกต พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่ สำนักข่าวกรอง ชงเองกินเอง สุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตาม รธน. ชี้อาจนำไปสู่ร้องศาล รธน.ประเด็นกฎหมายหรือการกระทำขัดกับ รธน.

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวให้ความเห็นข้อสังเกตต่อการบังคับใช้พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่ มีข้อความว่า ตามที่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม นั้น ผมมีข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการเป็นการส่วนตัว ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังนี้

1. การให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น จากองค์กรศาล แต่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นการเสนอ และตรวจสอบควบคุม ภายในหน่วยงานเดียวกันเอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไม่สุจริตและไม่ชอบธรรม และการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่

2. การที่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติให้ความคุ้มครองการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร ที่กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุ และเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีข้อดีในการให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ก็อาจจะเป็นเหรียญสองด้าน โดยอีกด้านอาจจะเป็นการอ้างและใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติกฎหมายในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้

3. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว จะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่

4. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลได้ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 บัญญัติให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

5. การใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารตามกฎหมายนี้ อาจจะนำไปสู่

(1) การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ) พ.ศ. 2561 มาตรา 41 และมาตรา 7 (1)

(2) การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่นี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตาม พรป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 48ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้

มติชนออนไลน์