ม.44 เสกหนี้ “ทีวีดิจิทัล” หายวับ “กสทช.” เรียกผู้เกี่ยวข้องแจงยิบ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) และผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้าหารือ เพื่อชี้แจงในรายละเอียดการช่วยเหลือ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตได้ ซึ่งผู้มีความประสงค์ต้องแจ้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ขณะที่ ผู้ประกอบการทั้ง 17 ช่อง ที่ค้างชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ต้องชำระภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 8 สิงหาคม 2562 รวมเป็นเงิน 3,215 ล้านบาท จากนั้นนำรายได้ที่เกิดขึ้นส่งคืนให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ที่ได้ชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 แล้ว ได้แก่ ช่อง 7 จำนวน 372 ล้านบาท, ช่องเวิร์คพอยท์ จำนวน 395 ล้านบาท และช่องสปริงนิวส์ 219 ล้านบาท รวม 986 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 2,228 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ค้างชำระต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี กรณีที่ได้รับเงินจากการชำระงวดที่ 2 ไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ่ายคืนให้กับผู้ประกอบการตามลำดับ โดยพิจารณาจากความจำเป็นของแต่ละช่อง ซึ่งอ้างอิงจากผลประกอบการ

อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) เต็มจำนวนตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ 9 ปี 6 เดือน รวม 18,775 ล้านบาท โดยจะเริ่มสนับสนุนในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ซึ่งช่วยเหลือค่ามักซ์ 50% เป็นเวลา 24 เดือน นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) เบื้องต้น 431 ล้านบาท โดยการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อวัดเรตติ้งที่ถูกต้อง และยุติธรรม

“สำหรับผู้ประกอบการีวีดิจิทัลที่มีความประสงค์คืนใบอนุญาต สามารถแจ้งเป็นหนังสือถึง กสทช. ภายในวันที่ 10 พฤษาคม 2562 ซึ่งคาดว่า ปลายเดือนพฤษภาคมจะได้ข้อสรุปในหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์ชดเชย ไม่เป็นที่พอใจ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถแจ้งถอนความประสงค์ได้” นายฐากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กสทช. อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟังการหารือได้ตลอดช่วง เพื่อทราบรายละเอียดต่างๆ และซักถาม พร้อมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่เข้าร่วมหารือ อาทิ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด, บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และจีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด ขณะที่ ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) อาทิ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

มติชนออนไลน์