ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอครม. ตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

​​พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ร่างระเบียบฯ ที่มท.เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับการโอนภารกิจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบ คือ ​​1. กำหนดให้รัฐมนตรีมท.เป็น รักษาการ

2. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 3. กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบกำหนดตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่

4. กำหนดให้ปภ. ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า 5.ในกรณีที่ต้องใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ หรือความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ให้ปภ.ทำความตกลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนด้านการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดตามความเหมาะสม 6. เพื่อประโยชน์ในการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการอื่น หรือครม.อาจมีมติให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของปภ.ได้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามปกติ และ 7. กำหนดให้หน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของปภ.

มติชนออนไลน์