ไฟเขียว 2 กฎหมาย รับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว มีผลใช้บังคับวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยหลักการสำคัญของกฎหมาย อาทิ มาตรา 3 การเพิ่มบทนิยามคำว่า ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ มาตรา 4 แก้ไขบทนิยามคำว่าหน่วยงานของรัฐให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเงื่อนไขที่จะถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับเป็นของผู้ส่งข้อมูล เพื่อให้สอดคล้องมาตรฐานสากล

ขณะที่ มาตรา 8 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การห้ามมิให้ปฏิเสธความสมบูรณ์หรือการบังคับใช้ของสัญญาที่ทำผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ และกำหนดเงื่อนไขในการถอนการแสดงเจตนาในการลงข้อมูลผิดพลาดที่ส่งผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ มาตรา 13 กำหนดหลักเกณฑ์ในการแจ้ง การขึ้นทะเบียน การขอรับใบอนุญาต ในการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ชัดเจน รวมทั้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอื่น

มาตรา 16 เปิดให้เป็นดุลพินิจของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่อาจพิจารณานำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลหรือในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้ ตามความเหมาะสม และมาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพร้อมผลักดันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ พร้อมกำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังบังคับใช้ พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 เพื่อสนับสนุนการทำงานของเอ็ตด้า ให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สอดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

แหล่งข่าวกล่าวว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย จากการมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคบางประการในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับการทำสัญญาในรูปแบบของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่อยู่คนละประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อให้กฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุงกลไกในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ที่
1.พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/049/T_0012.PDF

2.พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/049/T_0045.PDF

มติชนออนไลน์