‘อลงกรณ์’ ออกโรง โต้ ‘ชูวิทย์’ ป้อง ปชป. ยันร่วมรบ.หรือไม่อยู่ที่มติพรรค

‘อลงกรณ์’ ออกโรง โต้ ‘ชูวิทย์’ ป้อง ปชป. ยันร่วมรบ.หรือไม่อยู่ที่มติพรรค

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ชี้แจงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ วิจารณ์พรรคปชป. ว่า ได้อ่านความเห็นของนายชูวิทย์ ที่มีต่อพรรคปชป.จึงขอชี้แจงในหลายประเด็นเพื่อความเข้าใจอันดีต่อกันดังนี้ 1. ปชป.เป็นพรรคที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกพรรคในการเสนอความเห็นในนามส่วนตัว การเสนอความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความแตกแยกและพรรคมีหลักการว่าเมื่อมีมติพรรคทุกคนต้องปฏิบัติตาม นี่คือความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค การที่นายชูวิทย์บอกว่าพรรคปชป.เละเป็นโจ๊กโดยยกประเด็นความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านหรือเป็นรัฐบาลแห่งชาติจึงเป็นข้อสรุปที่ไม่เข้าใจความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคและไม่เข้าใจหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

2. พรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของถูกต้องแล้ว และทุกคนต้องฟังคำสั่งจากหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค การบริหารพรรคมีระบบบริหารจัดการและโครงสร้างการทำงานรวมทั้งสายการบังคับบัญชามีธรรมนูญพรรคเป็นลายลักษณ์อักษรจึงไม่มีภาวะแบบที่ นายชูวิทย์วิจารณ์ว่า ไม่มีใครสั่งหรือต่างคนต่างสั่งก็คงยุ่งเละเทะแบบนี้นี่เอง นายชูวิทย์ต้องแยกให้ออกระหว่างความแตกต่างเรื่องความคิดเห็นกับการออกคำสั่ง มิฉะนั้นข้อวิจารณ์ของนายชูวิทย์ก็จะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่าน ตนเป็นรองหัวหน้าพรรคมาแล้ว 3 ครั้ง รับคำสั่งจากหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนเรื่องความคิดความอ่าน ตนก็มีความเห็นต่างได้แต่เมื่อมีมติก็ปฏิบัติตาม ไม่ใช่ทุกคนสั่งได้ เราอยู่มา 73 ปีมีแนวปฏิบัติชัดเจนในเรื่องนี้

“3. ที่คุณชูวิทย์บอกว่าพรรคปชป.เป็นสถาบันทางการเมือง จัดตั้งมานานกว่าทุกพรรค ยืนหยัดมาทุกสมัย แต่หากเป็นสถาบัน แล้วเหตุใดถึงยึดติดตัวบุคคล ไม่มีนายชวนพรรคจะไปอย่างไร กล้าให้คนรุ่นใหม่มาเป็นคนบริหารจริงๆ ไหม ไม่ใช่ เป็นแค่หุ่นกระบอก ผมมีคำตอบให้คุณชูวิทย์สำหรับประเด็นนี้ครับ ก่อนอื่นต้องเรียนว่าทุกองค์กรจะมีเรื่องการบริหารคนและระบบควบคู่กันไป ในส่วนของพรรคก็เหมือนองค์กรอื่นๆคือไม่ได้ยึดติดตัวบุคคลมากกว่าระบบ เราจึงมีระบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารโดยที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีองค์ประกอบจาก 19 กลุ่มสมาชิก สำหรับท่านชวนได้รับความเคารพนับถือไม่ใช่เพราะเป็นเพียงอดีตหัวหน้าหรือเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหรือเป็นส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดแต่เพราะท่านเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในหมู่สมาชิกพรรค ท่านพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี2554ก็มีท่านอื่นเช่นท่านบัญญัติ บรรทัดฐานและท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทำหน้าที่หัวหน้าพรรคต่อมาและเร็วๆนี้ก็จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในเดือนหน้าส่วนท่านชวนปฏิเสธที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคและยืนยันว่าพร้อมจะช่วยทำงานให้พรรคตลอดไป”นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า  สำหรับประเด็นคนรุ่นใหม่นั้นพรรคให้ความสำคัญและส่งเสริมมานานแล้วเรียกว่ายุวประชาธิปัตย์ ปัจจุบันรีแบรนด์เป็น นิวเดม(New Dem) มีคนรุ่นใหม่ได้รับคัดเลือกให้ลงสมัครส.ส.แบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อย ส่วนที่นายชูวิทย์ถามว่ากล้าให้คนรุ่นใหม่บริหารจริงๆไหม ไม่ใช่เป็นแค่หุ่นกระบอกนั้นขอเรียนว่า เราได้ทำแล้วยกตัวอย่างเช่นในการประชุมใหญ่เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2561ก็เลือกคนรุ่นใหม่หลายคนเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และเชื่อว่าในการประชุมใหญ่พรรคเดือนหน้าเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่คงมีคนรุ่นใหม่สมัครและได้รับเลือกเพื่อช่วยบริหารพรรคหลายคนรวมทั้งสุภาพสตรีด้วย

4. อีกประเด็นที่นายชูวิทย์บอกว่า “มักอ้างมติพรรค (แต่เที่ยวนี้ พนัน 100 บาท เอาขี้หมากองเดียว หากมติพรรคไม่ถูกใจ ไม่ร่วมรัฐบาล สมาชิก ส.ส.พรรค ได้รังแตกแน่นอน)” ผมยอมรับว่า ตลอดอายุ73ปีของพรรคเคยมีปัญหาจริงกรณีสมาชิกพรรคบางส่วนไม่ยอมรับมติพรรค 2-3 ครั้งแต่ก็นับว่าน้อยครั้งมาก ส่วนการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ในครั้งนี้ขึ้นกับการตัดสินใจของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ตามข้อบังคับข้อที่96ในเดือนหน้าซึ่งสมาชิกต้องเคารพมติพรรคและเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเพราะแต่ละท่านที่เป็นแกนนำต่างยืนยันที่จะยอมรับมติพรรคไม่ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร

5. อีกประเด็นที่คุณชูวิทย์บอกว่า..”ทะเลาะกันในพรรค มักบอกแค่ความคิดเห็นที่แตกต่าง (แต่เล่นกันถึงตาย เที่ยวก่อน พวกไม่เอาอภิสิทธิ์ ไม่ได้ลง ส.ส. บ้าง หรือลำดับปาร์ตี้ลิสต์ อยู่แถวบ๊วยตอนท้ายบ้าง พรรคอื่นแม้ไม่ได้อ้างเป็นสถาบันอย่างประชาธิปัตย์ ก็ไม่เล่นกันน่าเกลียด หน้าเนื้อ ใจเสือ แบบนี้เสียด้วยซ้ำ)..” ผมยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่าปัญหาการแข่งขันภายในพรรคทำให้อดีตส.ส.2-3ท่านในทีมที่แข่งขันกับคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้ลงเขตโดยย้ายไปลงบัญชีรายชื่อแทนแต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครส.ส.เขต350คนก็ถือว่ามีปัญหาน้อยมาก ดังนั้นคำว่า “เล่นกันถึงตายหรือหน้าเนื้อใจเสือ”ดูรุนแรงเกินไปครับสำหรับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ในการแข่งขันเลือกหัวหน้าพรรคและการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ทั้ง2แบบอย่างตัวผม

ขณะเดียวกันถ้าคุณชูวิทย์จะลองมองอีกด้านของเหรียญก็จะพบข้อเท็จจริงว่าผู้สนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ระดับรองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.อาวุโสหลายสมัยก็ไม่ได้ลงเขตและถูกจัดไปอยู่บัญชีรายชื่อลำดับตั้งแต่25เป็นต้นไปซึ่งไม่ใช่เซฟโซนหลายคนเช่นกัน

6. ที่คุณชูวิทย์บอกว่า”..มี “อุดมการณ์ทางการเมืองมั่นคง” เคยขึ้น เคยลง และกลับมาทุกครั้ง (แต่กลับเป็นพรรคที่ทะเลาะกันเรื่องการจะไปร่วมรัฐบาลมากที่สุด เสียงแตกมากที่สุด ไม่รู้จะเอาอย่างไรแน่? ตอนอดีตหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ หาเสียง บอกไม่ร่วมบิ๊กตู่สืบทอดอำนาจ ก็ไม่มีใครในพรรคโต้แย้ง พอตอนแพ้หลังเลือกตั้ง กลับบอกว่า เป็นเพราะไปพูดแบบนั้นถึงแพ้ อุดมการณ์ไม่พูดถึง แต่ต้องเอาตัวรอดกันก่อน ผู้ใหญ่ในพรรคถูกมองข้ามหัว ไม่ฟังกันแล้ว)…” ผมยังยืนยันว่า ความเห็นว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านหรือเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรคและทุกท่านที่เสนอก็ยืนยันว่าเป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคโดยยินดีจะปฏิบัติตามมติพรรคไม่ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นายชูวิทย์ควรแยกแยะให้ได้ระหว่างความเห็นของสมาชิกกับความเห็นของพรรค และขณะนี้พรรคยังไม่มีมติในเรื่องนี้จนกว่าจะมีการรับรองผลการเลือกตั้งภายใน9พ.ค. การที่คุณชูวิทย์สรุปว่าปชป.เป็นพรรคที่ทะเลาะกันเรื่องการจะไปร่วมรัฐบาลมากที่สุด เสียงแตกมากที่สุดจึงเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างยิ่ง  ผมเชื่อว่าการตัดสินใจของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารชุดใหม่กับส.ส.ของพรรคหลังวันที่9พ.ค.จะคำนึงถึงสิ่งที่พรรคหาเสียงกับประชาชนและประเด็นจุดยืนที่หัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนก่อนวันเลือกตั้งรวมทั้งประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และจากการประชุมภายในของพรรคหลายครั้งทำให้ผมให้ความมั่นใจได้ว่าการพ่ายแพ้ของพรรคเป็นบทเรียนที่ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์เห็นตรงกันว่าจะต้องปฏิรูปพรรคอย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

“สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณคุณชูวิทย์ที่ให้ความสนใจและความสำคัญกับพรรคประชาธิปัตย์ในการเสนอข้อวิจารณ์ความเห็นในหลายแง่หลายมุมเสมือนกระจกสะท้อนภาพปัญหาและความไม่เข้าใจในหลานเรื่องหลายประเด็นและหวังว่าคำชี้แจงของผมพอจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องได้บ้างไม่มากก็น้อยโดยหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าคุณชูวิทย์จะกลับมาสนับสนุนและเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่งครับ” นายอลงกรณ์ กล่าว

 

มติชนออนไลน์