กนง.ห่วงลงทุน-ค่าบาทป่วน | อสังหาฯ หวัง ศก.ดีหลังตั้ง รบ. | จับตานกแอร์เสี่ยงการเงิน

แฟ้มข่าว

ปลดล็อกภาคการเงินอาเซียน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา มีการหารือร่วมกัน 3 เรื่องหลักคือ 1.การพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในอาเซียน 2.ส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ 3.การสร้างภูมิคุ้มกันด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สำหรับแนวคิดเชื่อมระบบการชำระเงินร่วมกันในอาเซียนผ่านคิวอาร์โค้ดกลางอาเซียน ได้หารือกับกัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว ซึ่งให้ความสนใจหากทำได้จะสามารถเชื่อมระบบไปยังประเทศนอกกลุ่มอาเซียนได้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือกับเว็บไซต์อาลีบาบาในการใช้ระบบชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ดด้วย และยังได้จัดพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน โดยอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน ได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่คณะทำงานพิจารณาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน

ดึงจีน-ญี่ปุ่นเลือกไทยตั้งฐาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เดือนนี้ที่ประชุมจะรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาท หลังจากได้ชื่อผู้ชนะการประมูลครบทั้งหมด เมื่อมีความชัดเจนแล้ว คาดว่าจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากจีน รวมทั้งความร่วมมือของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นในการลงทุนประเทศที่ 3 โดยโฟกัสพื้นที่อีอีซีของไทยเป็นประเทศแรก ซึ่ง สกพอ.จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการเข้ามาลงทุนที่เป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและจีนเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ยืนยันว่าอีอีซีมีกฎหมายเป็นของตนเองและมี สกพอ.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนงานต่างๆ ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นประธานบอร์ดใหญ่อีอีซีโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และอีอีซีเป็นการนำไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักไม่ได้ทำหรือพัฒนาเพื่อคนแค่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรีเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์กับคนในประเทศโดยรวม

กนง.ห่วงลงทุน-ค่าบาทป่วน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 โดย กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี ว่า กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพที่ 3.8% และ 3.9% ตามลำดับ โดยอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง แต่ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นควรให้ติดตามความต่อเนื่องของแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องของโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและต่อฐานะการคลังระยะปานกลาง รวมถึงให้ติดตามภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ด้านตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนภายในประเทศหลังประกาศผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด

ปั้นไทยฮับส่งออกผลไม้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ว่า ปตท.ได้ตั้งคณะทำงานร่วม มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน วางแนวทางการดำเนินงานในอีเอฟซี ขณะนี้รอเพียงการจัดสรรพื้นที่จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่าจะตั้งที่ไหน รูปแบบใด คาดว่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้ และความชัดเจนการดำเนินจะเห็นเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยการทำงานร่วมในอีเอฟซีได้รับความเห็นชอบมาจากบอร์ด ปตท.แล้ว ซึ่งเป็นการนำความเย็นที่ได้จากกระบวนการคัดแยกก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการเก็บรักษาพืชผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อทำเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ตลาดผลไม้ก่อนจะทำการส่งออกหรือขายในประเทศ

จับตานกแอร์เสี่ยงการเงิน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กพท.คุมเข้มตรวจสอบแผนบริหารธุรกิจ และการเงินของสายการบินนกแอร์เป็นพิเศษ เนื่องจากสายการบินนกแอร์เป็นสายการบินที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เส้นทางในประเทศเป็นอันดับ 2 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่กว่า 20% รองจากสายการบินไทย แอร์เอเชียที่มีส่วนแบ่งอยู่กว่า 30% และอันดับ 3 สายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ ที่มีสัดส่วนอยู่ราว 18% แต่ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีปัญหาทางการเงิน และยื่นขอยกเลิกเที่ยวบินมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมากว่า 1 ปีแล้วมีหลายสาเหตุ เช่น หมุนเครื่องไม่ทัน เพราะเครื่องบินบางส่วนต้องส่งซ่อม และยกเลิกเพราะบางเที่ยวบินมียอดจองการเดินทางน้อย แต่กระแสเงินสดของนกแอร์เริ่มมีความน่ากังวล เพราะปกติธุรกิจสายการบินจะมีรายได้ และมีเงินสดมาจากการบิน แต่เชื่อว่านกแอร์จะหาผู้ถือหุ้นใหม่ได้ในที่สุด และขณะนี้นกแอร์มีการจ่ายหนี้สินตามปกติ โดย กพท.ต้องติดตามตรวจสอบธุรกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะนกแอร์มีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างสูง ดังนั้น หากเกิดปัญหาจะกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก

อสังหาฯ หวัง ศก.ดีหลังตั้ง รบ.

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน ในไตรมาส 1 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 50.9 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 จุด แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และอุปสงค์ในตลาดมีจำนวนลดลงจากปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการระบายอุปทานเหลือขายออกไปซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอาจมีการปรับตัวในการทบทวนแผนการเปิดโครงการใหม่ และการขยายลงทุนที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 58.4 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.5 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางของธุรกิจ โดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ยังหวังผลประกอบการ (กำไร) และยอดขายในอนาคตจะลดลง ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและจะกระทบต่อการจ้างงานลดลง