เลขาฯ พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วยข้อเสนอ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ชี้ไม่เป็นประชาธิปไตย

วันที่ 15 เม.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึง กรณีมีผู้เสนอรัฐบาลแห่งชาติ ในส่วนตัวและในส่วนพรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วย เพราะการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ทราบเลยว่าพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบจำนวนเท่าไหร่

เนื่องจาก กกต.จะต้องมีกระบวนการ เช่น ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ ที่จะมีผลอย่างยิ่งกับ จำนวนน ส.ส. และการพิจารณา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กกต.ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด แม้จะมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ขณะนี้ กกต.ยังส่งเรื่องให้ ศาล รัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่

ที่สำคัญรัฐบาลแห่งชาติ กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจไว้ ตามระบบเลือกตั้ง เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีความยืดหยุ่น มีหลักการในการแก้ปัญหา หลักการประชาธิปไตยเป็นหลักสากล แม้ประเทศที่แตกต่าง ศาสนา เช่น พุทธ อิสลามในอินโดนีเซีย คริสต์ในยุโรป และฮินดูในอินเดีย ก็ยังปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีช่องทางให้แก้อยู่แล้ว

ประการต่อมา นักการเมือง ช่วงหาเสียงเราเรียกร้องให้ประชาชนเกิดความสามัคคีปรองดองไม่ขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่าถ้ามีความขัดแย้งทางการเมือง ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เมื่อทราบผลเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากกว่า 251 เสียงเป็นรัฐบาล

ทุกคนไม่ต้องกังวล สิ่งที่กังวล มีเสียงมากกว่า 376 เสียง การเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร มากกว่า 251 เสียง มิเช่นนั้นการบริหารประเทศจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถ้ามีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสภา แล้วมีเหตุผลไม่ดีพอจะถูกไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ทางฝ่ายการเมืองเมื่อรู้ผลเลือกตั้ง ควรหันหน้ามาคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะออกจากความขัดแย้งได้ เพราะช่องทางประชาธิปไตยก็มีอยู่แล้ว

ดังนั้นการเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย รัฐบาลแห่งชาติ ถ้ามองอีกทีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อพรคการเมืองเสนอนโยบายรัฐบาลกับประชาชนแล้ว จึงควรให้กระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหาเสียก่อน