‘จุรินทร์’ ชี้ สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง อาจมีผลพลิกผันอีก ซัดคนร่างรธน.ออกกติกาวุ่น

“จุรินทร์” ชี้ สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง เชื่อ อาจมีผลพลิกผันอีก ซัด คนร่าง รธน.ออกกติกาวุ่น แนะถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พร้อมแสดงความรับผิดชอบ

วันที่ 15 เมษายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า ตนคิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คือไม่ปกติทั้งกติกา ทั้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจบางอย่าง ดังนั้นการเมืองจากนี้มันยังไม่นิ่ง ทั้งผลการเลือกตั้ง และการเมืองหลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร การเลือกนายกฯจะมีใครเข้าแข่งขัน จะเป็นไปอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ มันยังมีเงื่อนไขปัจจัยที่จะต้องติดตาม

เมื่อถามว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่สะท้อนถึงกลุ่มคนที่ร่างกติกาที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งการร้องค้านผลการเลือกตั้ง หรือการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลที่ส่อจะมีปัญหาหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเริ่มจะเป็นปัญหาให้เห็น ที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือสองขั้วที่แข่งกันจัดตั้งรัฐบาล โดยขั้วหนึ่งถ้ารวมเสียงข้างมากในสภาได้อาจจะไม่มีเสียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่อีกขั้วหนึ่งถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล ก็ยังมีคำถามว่า สุดท้ายจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ ล้วนเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรจะต้องรอผลการเลือกตั้งให้นิ่งก่อน

เมื่อถามย้ำว่า แต่สภาพที่เป็นอยู่คือทั้งสองขั้วไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็มีเสียงปริ่มน้ำ เป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี’60 ที่มุ่งเน้นแก้กรณีรัฐบาลมีเสถียรภาพมากเกินไป รวมถึงรูปแบบการเลือกตั้งใช้ใบเดียว การออกแบบกติกาเช่นนี้ถือเป็นคำตอบของประเทศ หรือเป็นระเบิดเวลามากกว่า นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็คงคาดไม่ถึงว่าสุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างนี้ แต่เดิมอาจจะคิดว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เช่น ถึงขั้นกำหนดให้ประธานสภาต้องอยู่ฝ่ายรัฐบาล กำหนดให้วุฒิสมาชิกโหวตเลือกนายกฯได้ และออกแบบรูปแบบการเลือกตั้งให้เป็นบัตรใบเดียว เพราะคาดหวังว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเบี้ยหัวแตกและสามารถที่จะทำให้การรวมเสียงตั้งรัฐบาลทำได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงมันเป็นผลตรงกันข้าม และเกิดภาวะการแข่งขันของสองขั้วทางการเมืองที่ปริ่มน้ำ ทั้งนี้ ตนไม่อยากเรียกร้องให้ใครแสดงความรับผิดชอบเพราะไม่อยากขยายประเด็นปัญหาให้เพิ่มขึ้น แต่คงจะเป็นบทเรียนให้กับคนร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้

มติชนออนไลน์