OVER-REACT! ความกลัวทางการทูตของรัฐบาลไทย! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์กรณีการเข้ารายงานตัวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันนั้น ได้มีการหยิบยกขึ้นมาประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาว่า “รัฐบาลต่างชาติกำลังแทรกแซงกิจการภายในของไทย”

แต่ใครที่ติดตามการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาที่มีการปกครองในระบอบอำนาจนิยมแล้ว เสียงของข้อกล่าวหารัฐบาลต่างประเทศเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด รัฐบาลเผด็จการมีโลห์เดียวที่จะใช้ปกป้องตนเองจากปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนคือ การใช้ข้ออ้างเรื่องอธิปไตยของการเมืองภายใน และยืนยันว่าการละเมิดต่างๆที่เกิดขึ้นเป็น “เรื่องภายใน” ที่รัฐอื่นจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ จนคำนี้กลายเป็น “วาทกรรมของรัฐบาลเผด็จการ” ทั่วโลกที่ใช้ในการคุ้มครองการกระทำของตนเอง และขณะเดียวกันก็ใช้เป็น “คาถาทางการเมือง” ที่จะปลุกเร้ากระแสอนุรักษนิยมในประเทศเห็นให้ใจรัฐบาลว่า กำลังถูกแทรกแซงจากรัฐภายนอก

วันวานไทยวิจารณ์พม่า วันนี้พม่าวิจารณ์ไทย!

หากย้อนกลับไปในอดีตในยุคที่รัฐบาลทหารเมียนมากำลังปกครองประเทศอยู่นั้น เสียงตอบการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ว่าจะมาจากตะวันตกหรือจากอาเซียน ก็เป็นเช่นเดียวกัน… เป็นเรื่องกิจการภายใน และสำทับด้วยว่า ต่างชาติกำลังแทรกแซงการเมืองของประเทศ

เสียงทำนองเดียวกันในวันนี้อาจจะไม่ได้มาจากเมียนมาแล้ว แต่อาจจะมาจากกัมพูชา ที่มีรัฐบาล “อำนาจนิยมแบบแข่งขัน” (competitive authoritarianism) เป็นผู้มีอำนาจการปกครอง และน่าสนใจว่า เสียงแบบเดียวกันนี้ก็มาจากรัฐบาลทหารไทยด้วย ซึ่งหากมองจากการเมืองโลกแล้ว คำตอบของรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ล้วนตอบโต้ด้วยวลีเดียวกัน

ในกรณีของไทยน่าสนใจอย่างมากในอีกส่วนหนึ่งว่า คำตอบโต้มาจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่อย่างน้อยน่าจะมีความเข้าใจในเรื่องที่สถานทูตของประเทศประชาธิปไตยจะมีบทบาทในการเป็น “ผู้สังเกตการณ์การเมือง” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังถูกจับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งการแสดงบทบาทเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่แปลก และเกินเลยจากความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมีความหวังว่า การเมืองไทยจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อเริ่มมีความไม่ปกติขึ้น พวกเขาจึงออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งบุคลากรของกระทรวงต่างประเทศตั้งแต่ในระดับนโยบายลงมาจนถึงเจ้าหน้าที่ในระดับสูงของกระทรวง ล้วนแต่มีการศึกษามามากพอสมควร จึงน่าจะเข้าใจเรื่องเช่นนี้ได้ดี และไม่จำเป็นต้องมองว่า บทบาทการสังเกตการณ์ของนักการทูตต่างประเทศเป็นภัยคุกคาม เว้นแต่จะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบทหาร(ที่ผู้มีอำนาจของกระทรวงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด)

หากย้อนกลับไปในอดีต ก็ใช่ว่ารัฐบาลไทยจะไม่เคยเล่นบทบาทเป็น “ผู้กดดัน” รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้รัฐบาลไทยเคยทำมาแล้ว ด้วยความหวังว่า อย่างน้อยพวกเราในอาเซียนจะมีระบอบการเมืองสากล ที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และในอีกด้านหากคำตอบโต้ที่สะท้อนถึง “ความหงุดหงิด” ของรัฐบาลทหารออกมาจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ทุกคนอาจจะทำใจยอมรับได้บ้างว่า ทหารไทยที่มีอำนาจไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ จึงแสดงออกด้วยท่าทีเช่นนั้น

การแสดงออกทางการทูตเช่นนี้กำลังสร้างความเสียหายกับสถานะทางการเมืองของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่กำลังแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการเป็น “ผู้ปกป้อง” ระบอบทหารในไทย และการกระทำเช่นนี้กำลังทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นวันนี้ถ้าทนไม่ได้กับการวิจารณ์การเมืองไทยจากสื่อตะวันตก เสียงจากหนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2562 ก็น่าจะเป็นดัง “กระจกการเมือง” อีกบานหนึ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่ถ้าอ่านกันแล้ว จะทำใจได้ไหมว่า คราวนี้เสียงวิจารณ์ไทยมาจากพม่า ทั้งที่ในอดีตเสียงวิจารณ์พม่ามาจากไทยต่างหาก

เมียนมาไทม์นำเสนอบทความเรื่อง “บทเรียนจากเผด็จการเพื่อนบ้าน” (Lessons from a dictatorial neighbour) เนื้อหาของบทความนำเสนอว่า เมียนมากำลังเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เฟื่องฟู ในขณะที่ไทยเดินสวนทางเป็นประเทศเผด็จการที่กำลังตกต่ำ หรือเปรียบเทียบได้ว่า การเมืองไทยย้อนรอยสู่อดีตเช่นเมียนมาในยุคเผด็จการทหารของ “สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ” (The State Peace and Development Council หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “SPDC”)… โลกดูจะกลับหัวกลับหางสิ้นดี เมื่อสื่อเมียนมาวิจารณ์เผด็จการทหารไทย

ภาพสะท้อนการเมืองไทย

สภาพเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนภาพอะไร มากไปกว่าสะท้อนความตกตำ่ของการเมืองไทย ที่แม้เมื่อเกิดการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เกิดลักษณ์ที่ดีตามมา กลับตามมาด้วยการไล่ล่าที่ไม่จบ และเป็นการล่าด้วยอำนาจเก่าของรัฐบาลทหารที่ควรจะต้องยุติบทบาทไปแล้ว(หลังการเลือกตั้ง) อีกทั้งหลังเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลทหารก็ยังอยู่พร้อมกับอำนาจที่สมบูรณ์ในตัวเอง ราวกับประเทศยังไม่มีรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นหากรัฐบาลทหารประสงค์ให้การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยแล้ว รัฐบาลควรจะต้องยุติ “การไล่ล่า” และ”การสร้างความผิด” เพื่อการเอาชนะฝ่ายค้าน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งสัญญาณลบให้แก่ประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังกลายเป็นสัญญาณของการไม่ยอมลงจากอำนาจของรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสัญญาณเช่นนี้ที่ทำให้ “ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ” ยังคงต้องมีบทบาทต่อไป

อีกทั้งหากกล่าวในฐานะอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 แล้ว จะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร (กำหนดเขตศาลทหารที่กรมพลาธิการทหารบก สนามบินน้ำ) ก็มีผู้แทนจากสถานทูตต่างๆในประเทศไทยเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาทุกนัด จนเป็นเรื่องปกติ และก็ไม่มีการประท้วงจากรัฐบาลหรือจากกระทรวงการต่างประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาทางการทูตให้ไทยต้องตกเป็นข่าวด้านลบในสื่อต่างประเทศ และต้องชมผู้บังคับบัญชาของฝ่ายตำรวจที่ในวันนั้น กล้าตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตต่างประเทศเข้าร่วมฟังการซักถามที่ สน. ปทุมวัน เพราะทางฝ่ายตำรวจสามารถที่จะขอให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้น รออยู่ภายนอกได้ แต่ก็อนุญาตให้เข้ามาในห้องดังกล่าวได้

ฉะนั้นอาการ “over-react” ของเจ้าหน้าที่ด้านต่างประเทศรัฐบาลไทยครั้งนี้ ตีความได้ประการเดียวว่า รัฐบาลทหารไทยตระหนักดีว่า ตนกำลังถูกจับตามองจากประชาคมสากล จนเกิด “ความกลัวทางการทูต” อันนำไปสู่การมองว่า การสังเกตการณ์ของนักการทูตต่างประเทศเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อสถานะของรัฐบาลทหาร และจำเป็นต้องตอบโต้ แต่ก็อาจจะไม่ตระหนักว่า การตอบโต้ที่เกินความจำเป็นนั้น ส่งผลกระทบให้เกิดภาพลบทั้งต่อรัฐบาลทหารและต่อกระทรวงต่างประเทศมากกว่า

เกมการทูตของไทยครั้งนี้น่าจะเสียมากกว่าได้ เว้นแต่ผู้ที่ออกมาตอบโต้นั้น น่าจะได้อีกแบบคือ “ได้ใจรัฐบาลทหาร” แต่ประเทศไม่น่าได้ครับ!

มติชนออนไลน์