เกร็ดน่ารู้ การเลือกตั้งอินโดนีเซีย 2018

การเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียใกล้จะเริ่มขึ้นแล้วในวันที่ 17 เมษายน ถือเป็นการเลือกตั้งของประเทศใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ใช้สิทธิแดนอิเหนาจะออกมาเข้าคูหาเพื่อกำหนดทิศทางว่าอินโดนีเซียในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และยังเป็นบททดสอบใหญ่ของ “โจโควี” หรือนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบันว่า จะยังครองความนิยมและนั่งต่ออีกสมัยได้หรือไม่

เว็บไซต์เดอะการณ์เดี้ยนของอังกฤษ ได้ฉายภาพรวมของการเลือกตั้งของอินโดนีเซียซึ่งมีจุดน่าสนใจที่สามารถหยิบยกเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบได้ว่า เหมือน-ต่างจากประเทศอื่นรวมถึงประเทศไทยยังไง

การเลือกตั้งสุดซับซ้อนเกิดขึ้นในวันเดียว 

อย่างที่รู้กันว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีมากกว่า 17,000 แห่ง หากเทียบตัวเลขผู้ใช้สิทธิ อินเดียยังคงมีมากที่สุดในแง่จำนวน แต่อินเดียใช้เวลาการเลือกตั้งให้กับผู้ใช้สิทธินานถึง 6 สัปดาห์

ตัวเลขประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอินโดนีเซียมีอยู่ราว 192.8 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 40 ปี

ระบบเลือกตั้งของอินโดนีเซียครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่จะมีการเลือกผู้แทน 5 ระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการเลือกประธานาธิบดี โดยหน่วยเลือกตั้งที่มีถึง 809,000 แห่ง ชาวอินโดนีเซียที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องเลือกผู้สมัครกว่า 2 แสน 5 หมื่น เพื่อให้ได้สมาชิกสภาทุกระดับจำนวน 20,538 คน ด้วยเวลาเปิดหีบหย่อนบัตรเพียง 6 ชั่วโมง รวมถึงมีการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ในหลายประเทศที่มีชาวอินโดนีเซียอาศัยอยู่ อย่างเช่น ชาวอินโดนีเซียในมาเลเซีย

ศึกชิงผู้นำ ระหว่าง อดีตคนขายเฟอร์นิเจอร์ ปะทะ อดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงเป็นที่จับตาอีกครั้งสำหรับผู้นำสองพรรคใหญ่ระหว่าง นายวิโดโด จากพรรคประชาธิปไตยของการต่อสู้แห่งอินโดนีเซีย หรือ พีดีไอ-พี กับนายปราโบโว สุเบียนโต อดีตทหารผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษและลูกเขยนายพลซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการ จากพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ หรือ เกรินดรา ซึ่งมีแนวทางชาตินิยม โดยครั้งนี้ ผู้ท่าชิงรองประธานาธิบดีฝ่ายวิโดโดคือนายมารุฟ อามิน ครูสอนศาสนาฝ่ายอนุรักษ์นิยมวัย 76 ปี ส่วนผู้ท้าชิงฝ่ายสุเบียนโต คือนายซาเดียนก้า อูโน อดีตนักลงทุนหนุ่มที่ตอนนี้ทำงานรองผู้ว่าการเมืองจาการ์ต้า

โดยการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2014 นายวิโดโดชนะนายสุเบียนโตไปเพียง 6 เปอร์เซ็นต์

ประชาชนผู้(ไม่)มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ประชาชนชาวอินโดนีเซียที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป และถือบัตรเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า “อี-เคทีพี” (ในขณะที่ไทยใช้กระดาษที่กากบาทช่องลงคะแนนด้วยปากกา) ถึงจะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง หรือบุคคลผู้สมรสแล้วก็ใช้สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งกฎหมายอินโดนีเซีย ผู้หญิงที่สมรสจะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป

ส่วนกลุ่มที่ถูกยกเว้นจากการใช้สิทธิ์เลือกตั้งคือ ตำรวจและทหาร ซึ่งตามกฎหมายต้องถือหลักความเป็นกลางทางการเมือง (ส่วนไทยตำรวจ-ทหารเดินเข้าคูหา) 

อย่างไรก็ตาม การใช้บัตรลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ บางพื้นที่เช่นพื้นที่ห่างไกลหรือเข้าไม่ถึงความเจริญจะพลาดโอกาสนี้ ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยอินโดนีเซียระบุว่า มีชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะกว่า 1.6 ล้านคน จะไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่กระนั้น อินโดนีเซียในบางพื้นที่ก็มีความพิเศษเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งอย่างบางชนเผ่าในปาปัว ก็จะมีระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า โนเคน คือหัวหน้าเผ่าถือเป็นตัวแทนเสียงของชุมชน บัตรเลือกตั้งจะถูกใส่ลงในโนเคนหรือถุงผ้าแบบชนพื้นเมือง

ขนส่งบัตรเลือกตั้งด้วยทุกรูปแบบที่มี

ด้วยความเป็นประเทศหมู่เกาะและสภาพภูมิศาสตร์ที่ยากลำบากและห่างไกล การขนบัตรลงคะแนนจึงมีหลายรูปแบบตั้งแต่เครื่องบิน เรือรบ ไปจนถึงบนหลังม้า เรือคานูหรือแม้แต่เดินเท้า การขนส่งนับว่าน่าประทับใจ แต่ก็มีบ้างที่ต้องเจออุปสรรคเล็กน้อย อย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เรือขนบัตรลงคะแนนกว่า 26 กล่อง เกิดเหตุจมระหว่างทางไปเขตนาทูน่า พื้นที่หมู่เกาะบริเวณทะเลจีนใต้ หลังเรือชนเข้ากับแนวปะการัง

ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้งอินโดนีเซียซึ่งใช้ระบบโหวตแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็มีความกังวลถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดปกติ รวมถึงผลวิจัยสำรวจที่พบถึงความพยายามในการซื้อเสียง แต่ถึงอย่างนั้นการเลือกตั้งของอินโดนีเซียยังคงถูกมองว่าเสรีและเป็นธรรม ด้วยการเชิญผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจาก 33 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการสังเกตการณ์