“อดีตขุนคลัง” โพสต์ถาม “คสช. ควรเล่นเป็นซานตาคล๊อสด้วยเงินประชาชน หรือไม่?”

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งม.44 ช่วยเหลือกิจการโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัล โดยให้ยืดระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น และคืนใบอนุญาตได้ ว่า “คสช. ควรเล่นเป็นซานตาคล๊อสด้วยเงินประชาชน หรือไม่?” โดยระบุว่า

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เล่นเป็นซานตาคล๊อส ใช้เงินส่วนรวมทำนโยบายประชานิยมหลายเรื่อง เพื่อแข่งกับรัฐบาลในอดีตถึงแม้มีเสียงวิจารณ์ว่า ได้ผลแบบไฟไหม้ฟาง และไม่เกื้อกูลให้ประชาชนพึ่งตนเอง แต่อย่างน้อยผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้มีรายได้น้อยถามว่าประชาชนจะคิดอย่างไร ถ้าพล.อ.ประยุทธ์เล่นเป็นซานตาคล๊อส แต่เพื่อประโยชน์แก่คนรวย และแก่นักธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะถ้าเบียดบังไปจากประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 คสช. ก็มีประกาศ ม.44 อุ้มธุรกิจโทรคมนาคม และมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลควบคู่กันไปด้วย ตามลิงค์ข่าว ผู้ประกอบการทีวี จะได้รับการช่วยเหลือในการไม่ต้องจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัล ใน 2 งวดสุดท้าย ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 13,622 ล้านบาท และยังจะได้รับการช่วยเหลือการจ่ายค่าเช่าโครงข่ายอีกประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท จนสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 รวมเป็นเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดในวงเงินเบื้องต้นประมาณ 33,622 ล้านบาทหากผู้ประกอบการรายใด ได้จ่ายเงินบางงวดไปแล้ว ก็จะได้รับเงินคืน

โดยในเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับเงินจากการประมูลคลื่นย่าน 700 MHz ก็ให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ของกสทช.มาใช้ก่อน

ส่วนผู้ประกอบการ MUX นั้น จะได้รับการชดเชยจากการต้องย้ายย่านคลื่นในโครงข่ายทีวี เพื่อคืนคลื่นย่าน 700 MHz ให้กสทช.มาจัดการประมูล โดยคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ แต่ต้องทำหนังสือแจ้งไปยัง กสทช. ภายใน 30 วันหลังประกาศฉบับนี้และให้สำนักงาน กสทช. กำหนดค่าชดเชยให้

ผมวิจารณ์ว่า การทำอย่างนี้ทำลายหลักการประมูลแข่งขันโดยตรง เพราะเมื่ออนุญาตใช้สำหรับเรื่องนี้ ในอนาคตจะปฏิเสธสำหรับเรื่องอื่นได้อย่างไร?

ถ้าผู้ชนะประมูลสามารถเปลี่ยนใจภายหลังได้ สามารถคืนใบอนุญาตได้ โดยได้รับเงินคืน …

ในการประมูลต่อๆ ไป เอกชนรายใดรายหนึ่งก็จะสามารถเสนอผลตอบแทนสูงเวอร์ เพื่อชนะได้รับคัดเลือกไปก่อน แล้วถ้าทำไปขาดทุน หรือกำไรน้อย ก็ขอเจรจายกเลิกภายหลัง

และการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวี ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัล ใน 2 งวดสุดท้าย ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 13,622 ล้านบาท นั้น เหตุใดจึงไม่มีผู้ต้องรับผิดชอบ?

ถ้าหากอ้างว่า รัฐจำเป็นต้องยกประโยชน์ให้แก่เอกชน เกิดจากความผิดของ กสทช. ที่พัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ล่าช้า รัฐก็จำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ในเรื่องมาตรา 44 นั้น คุณไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายใหญ่เขียนไว้ชัดเจนว่า

“อย่าเชื่อใครว่า

จะสามารถใช้มาตรา 44 ได้ทุกกรณีเสมอไป

รัฐธรรมนูญบัญญัติ กรอบและเงื่อนไข การใช้มาตรา 44 ไว้ดังนี้

1 กรณีเป็นการจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านต่างๆ

2 กรณีเป็นการจำเป็น ในการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

3 กรณีเป็นการจำเป็น เพื่อป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

กรณีใดกรณีหนึ่งหากเกิดขึ้น หัวหน้าคสช. โดยความเห็นชอบของคณะคสช. มีอำนาจ 2 ประการคือ

1 สั่งการให้ระงับยับยั้ง

2 กระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าจะมีผลในทางนิติบัญญัติในทางบริหารหรือในทางตุลาการ

และเมื่อดำเนินการครบถ้วนตามเงื่อนไข และขอบเขตดังกล่าวแล้วนั่นแหละ จึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด

หากไม่เป็นไปตามกรอบและเงื่อนไขนี้ ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น ผู้อ่านจึงควรพิจารณาว่า ประกาศฉบับนี้เข้าเงื่อนไข 3 ข้อดังกล่าวหรือไม่

โดยสำหรับข้อ 3 นั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมเห็นว่าไม่สามารถที่จะเข้าข่ายเป็นการจำเป็น เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ แม้แต่น้อย

 

มติชนออนไลน์