ปธ.ทีดีอาร์ไอ โพสเฟซบุ๊กวิจารณ์ผลใช้ม.44 ยืดค่าหนี้มือถือ

จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้าย ตามที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้มีการยื่นหนังสือถึง คสช.เพื่อพิจารณา

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การยืดหนี้มือถือเท่ากับยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน ทั้งนี้มีว่าการออกคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ตามมาตรา 44 เพื่อยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ทำให้หุ้นของบริษัททั้ง 3 บริษัทเด้งสูงทันที

ทั้งนี้ จากการที่หุ้นเด้งสูงขึ้นรับข่าวดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นของบริษัททั้ง 3 บริษัท จะได้ประโยชน์หากมีมาตรการยืดหนี้ออกมาจริง ตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐที่ระบุว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน นอกจากนี้ พบว่านักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายได้ข้อสรุปว่า ทรูจะได้ประโยชน์มากสุด ขณะที่ดีแทคจะได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะหนี้งวดสุดท้ายที่จะถูกยืดออกไปมีมูลค่าน้อยที่สุด

“การคำนวณของผม พบว่า ที่จริงแล้ว ทั้ง 3 บริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกัน ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆกันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม” นายสมเกียรติ กล่าว

มติชนออนไลน์