กกต.ปัดแต่งตัวเลข ชี้ บัตรงอก 4.5ล้านมาจากลต.ล่วงหน้า-ตปท. เร่ง แจงใบแดงก่อน 9พ.ค.

กกต.แจงปมร้อน จัดเลือกตั้ง ยันจำนวนบัตรมากกว่าผู้มาใช้สิทธิ์ 9 ใบ ไม่ทำกระทบคะแนนผู้สมัคร ชี้ บัตรงอก 4.5 ล้านจากเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกราชฯ ยัน ไม่มีการตกแต่งตัวเลข เผย เร่งสอบความผิดพลาด คาด แจกใบแดงก่อน 9 พ.ค.

เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 29 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. แถลงชี้แจงใน 4 ประเด็นที่มีข้อสงสัย คือ 1. กรณีมีผู้สงสัยว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ประธานกกต.แถลงในวันที่ 24 มีนาคม จำนวน 51,205,624 คน กับตัวเลขที่ตนแถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม จำนวน 51,239,638 คน มีการเพิ่มขึ้น 34,014 คน อย่างผิดปกตินั้น ที่ประธานกกต.แถลงเป็นการแถลงเป็นตัวเลขซึ่งเป็นการคีย์ข้อมูลเข้ามาของกรรมการประจำหน่วยผ่านระบบแรพพิดรีพอร์ต เป็นข้อมูลยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ตนแถลงไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เป็นข้อมูลจากเอกสารการรายงานผลอย่างเป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ 350 เขตเลือกตั้งส่งเข้ามา

2. กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจำนวนบัตรเลือกตั้งที่กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม จึงเพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับจำนวนร้อยละ 93 ที่ประธานกกต.แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม นั้น ขอชี้แจงว่าที่ประธานกกต.แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม นั้นเป็นข้อมูลตามที่ระบบรายงานผล ได้รายงานอยู่ที่ร้อยละ 93 แต่ที่กกต.แถลงวันที่ 28 มีนาคม มีการรวมผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ราว 2.3 ล้าน รวมถึงเลือกตั้งนอกราชที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 1 แสนคน เมื่อตัวเลขทบเข้าไปทำให้จำนวนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล เพราะกระบวนการทั้งหมดมีการตรวจสอบตั้งแต่หน่วยเลือกตั้ง มีการประกาศผลที่หน่วยเลือกตั้งจำนวนบัตรที่ใช้ บัตรที่เหลือ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ และเชื่อว่า ผู้สมัครทุกคนได้บันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีใครไปเพิ่มผลคะแนนตัวเลขได้

3. กรณีมีข้อสงสัยว่าทำไมผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 38,268,375 คน กับบัตรเลือกตั้งที่ใช้ 38,268,366 ใบ จึงต่างกันอยู่ 9 ใบ ตรงนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากกต.ไม่ได้มีการตกแต่งตัวเลข ตัวเลขมาจากจังหวัดอย่างไร เราก็รายงานอย่างนั้น ส่วนจำนวนบัตรเลือกตั้งที่น้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์ 9 ใบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เท่าที่มีพูดคุยกันในคณะทำงาน คาดว่าการบันทึกข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์ลงในแบบส.ส. 1/3 อาจคลาดเคลื่อน หรืออาจมีการนับคลาดเคลื่อน เพราะต่างกันแค่ 9 ใบ แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อคะแนนของผู้สมัครแต่อย่างใด ซี่งกกต.จะได้ตรวจสอบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

4. เรื่องจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้มากกว่าจำนวนรวมของบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยต่างกันอยู่ 2 ใบ จากการพูดคุยในคณะทำงาน อาจมีการนับบัตรที่ใช้ไปจากต้นขั้วบัตรคลาดเคลื่อนไป แต่ก็จะตรวจสอบก่อนว่าเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งใด และจะรายงานให้กกต. พิจารณาดำเนินการต่อไป กกต.ถูกตั้งคำถามมาก จึงอยากออกมาชี้แจง เพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย

ขณะที่ การสั่งไม่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง 1,542 ใบจากนิวซีแลนด์ นายกฤช ชี้แจงว่า เมื่อดูกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 114 กฎหมายได้เขียนบังคับให้ กกต.ต้องวินิจฉัยอย่างนั้น ทั้งที่ กกต.เข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชน และไม่อยากทำอย่างนั้น รวมทั้งได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน 7 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 เมษายน จะทราบว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่ากกต.ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ

เมื่อถามถึง กรณีที่มีผู้สมัคร ส.ส. มาร้องเรื่องการวินิจฉัยบัตรของกรรมการประจำหน่วย ซึ่งขอให้มีการนับคะแนนใหม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ชี้แจงว่าการร้องให้นับคะแนนใหม่เป็นรายหน่วยสามารถยื่นร้องได้ ซึ่งขณะนี้มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งจำนวน 186 คดี และ 7 เรื่องเป็นการคัดค้านการนับคะแนน แต่ถ้าจะให้นับใหม่ทั้งประเทศนั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ อย่างไรก็ตาม ในการร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ หากไม่ร้องในระหว่างที่มีการนับคะแนนก็สามารถร้องภายหลังการเลือกตั้งได้

ส่วนเรื่องการประกาศผลร้อยละ 95 ในวันที่ 9 พฤษภาคมเลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดว่าหลังกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 9 พฤษภาคม ถ้าหากเห็นว่าสุจริต ก็ให้ประกาศผล ซึ่งคาดว่าสำนักงานจะเสนอให้ กกต.พิจารณาภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เบื้องต้นได้เร่งรัด กลุ่มภารกิจสืบสวนสอบสวนในกรณีเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ไม่เปิดโอกาสให้ทยอยประกาศผล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้ใบแดงก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งอาจทำให้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่สื่อมวลชนคำนวณอาจปรับเปลี่ยนได้ หากมีการเลือกตั้งใหม่