สื่อนอกสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย ชี้ ‘คนไทยคาดหวังสิ่งที่ดีกว่า’

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม เอเอฟพี ซึ่งส่งผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายหน่วยของกรุงเทพฯ รายงานว่า บรรดานักการเมืองส่วนใหญ่จากทุกพรรค ทุกค่าย เรื่อยไปจนถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เช่น นภิสา ไวฑูรเกียรติ อาจารย์รัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเนรศวร แสดงความวิตกว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะติดตาย หรือ เดดล็อค ทางการเมืองเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งภายใต้กฏเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้ ซึ่งจำกัดโอกาสที่จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาดไว้

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนพากันมาใช้สิทธิ์กันคึกคักตั้งแต่เริ่มต้นเปิดหน่วยให้ลงคะแนน โดยตั้งใจว่าจะได้ลงคะแนนเป็นคนแรกๆ ของหน่วย ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์มาเป็นเวลานาน และอ้างการเปิดเผยของนักธุรกิจหญิงรายหนึ่งหลังลงคะแนนเสียงแล้วเสร็จว่า ทุกคนอยากใช้สิทธิ์ของตนเอง แม้จะยอมรับว่า ประชาชนทั่วไปยังคงแตกแยกในทางความคิดออกเป็น 2 ฝ่ายอยู่ก็ตาม

ในขณะที่นายแพทย์หนุ่มรายหนึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพีที่หน่วยเลือกตั้งว่า ไม่ได้ใช้สิทธิ์ในการตัดสินใจของตัวเองมานาน 5 ปีแล้ว ถึงตอนนี้ก็เลยตื่นเต้นที่สามารถลงคะแนนเสียงได้

ส่วนผู้สื่อข่าวเอพี ซึ่งรายงานจากหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้ลงคะแนนเสียงเป็นคนแรกๆ ของหน่วย คือหญิงชราวัย 92 ปี ที่บอกว่า มาใช้สิทธิ์ทุกครั้ง เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเลือกคนดีเข้าสภา

ด้านเอพี ยังอ้างคำพูดของผู้มีสิทธิออกเสียงรายหนึ่งว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาในรูปไหน แต่หวังว่าพรรคที่ได้รับชัยชนะจะมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่และพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น

ส่วนนาง สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นกับเอพีว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่ที่การแสดงออกให้เห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศได้หรือไม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความหวังที่เลือนลางลงมากแล้ว

มติชนออนไลน์