ทอท.ยอมถอย “ประมูลดิวตี้ฟรี” ส่อลากยาวข้ามปี รอบอร์ดพีพีพีเคาะก่อน

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ประเด็นการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ที่เป็นปัญหาจะทำให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องถอยและประกาศยุติการขายเอกสารการยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน หรือทีโออาร์ ไปอย่างไม่มีกำหนด คาดว่าจะส่งผลกระทบกับการดำเนินการประมูล และทำให้ไม่สามารถหาผู้ประกอบการรายใหม่ได้ทันกรอบเวลาเดิม หรือภายในเดือนกันยายนนี้แน่นอน

ยันต้องให้บอร์ดพีพีพีเคาะก่อน

แหล่งข่าวรายนี้ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ เนื่องจากตามกระบวนการทั้ง 2 กิจการดังกล่าวที่ ทอท.เปิดประมูลนั้น เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องเข้าพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นสำหรับกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ดพีพีพีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ระบุว่าการจะออกประกาศว่า กิจการดิวตี้ฟรีของ ทอท. เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นสำหรับกิจการท่าอากาศยานหรือไม่ คงต้องให้มีการเรียกประชุมบอร์ดพีพีพีให้ได้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการเรียกประชุม เพราะกฎหมายเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ไป

“ปัญหาตอนนี้ คือ กฎหมายเพิ่งบังคับใช้ และยังไม่มีคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ดพีพีพี จึงยังไม่สามารถจะเรียกประชุมและพิจารณาเรื่องนี้ได้ ซึ่งผู้ดูแลด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่า ตามกฎหมายระบุให้บอร์ดพีพีพีอนุมัติก่อน ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องใช้เวลาอีกนาน ทั้งการแต่งตั้งบอร์ด การเรียกประชุม ช่วงนี้จึงเหมือนกับเป็นสุญญากาศ ทอท. จะเดินหน้าประมูลต่อไม่ได้ และต้องรอให้บอร์ดพิจารณาก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน บอร์ดพีพีพีจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.คลังเป็นรองประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เป็นคณะกรรมการ อาทิ ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงานประมาณ เลขาฯกฤษฎีกา เลขาฯสภาพัฒน์ และผู้ทรงคุณคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกตั้ง จึงทำให้การแต่งตั้งบอร์ดอาจจะล่าช้าออกไป

คาดลากยาวเป็นปี

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุอีกว่า กระบวนการจัดการประมูลทั้ง 2 โครงการในครั้งนี้คงไม่ง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ที่สำคัญ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจต้องการจะเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และความคาดหวังดังกล่าวทำให้ทุกกระบวนถูกจับตามากเป็นพิเศษ ในแง่ของความถูกต้อง ความโปร่งใส และต้องตรวจสอบได้

“คาดว่าน่าจะลากยาวออกไปอีกเป็นปี และไม่ทันกรอบเวลาเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกันยายน 2562 นี้แน่นอน ขณะเดียวกันก็จะมีปมปัญหาใหม่เกิดตามมาอีกเป็นระยะ เช่น หากได้ผู้ประกอบรายใหม่ไม่ทันกำหนดเวลา ทอท.จะทำอย่างไร หากต่อสัญญาให้รายเดิมต่อไปจนกว่าจะได้รายใหม่ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ก็ต้องร้องเรียนในประเด็นเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายเดิม เป็นต้น”

“นิตินัย” ขอแก้ปัญหาทีละเปลาะ

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ทอท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และผู้ให้สิทธิในการประกอบกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรี ขอรับฟังความเห็นจากทุก ๆ ฝ่าย เพื่อนำเหตุและผลมาแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ หลังจากที่ประกาศเลื่อนขายซองทีโออาร์ไปแล้ว เพื่อให้กรอบคอนเซ็ปต์ของทีโออาร์ดำเนินไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้

“ตอนนี้ได้ชี้แจงบอร์ดไปแล้ว ซึ่งบอร์ดได้ให้กลับมาศึกษาดูว่า ยังมีประเด็นไหนบ้างมีเหตุมีผล และมีตรรกะที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และผมยืนยันไปว่า ในประเด็นให้แบ่งประมูลตามหมวดหมู่สินค้า เราไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดต่าง ๆ ของหลักการบริหารพื้นที่ของสนามบิน ที่ไม่เหมือนกับห้างสรรพสินค้า แต่ก็มีบางประเด็นที่มีเหตุผลและมีความเป็นไปได้ที่เราอาจต้องแก้ไข คือ การแยกสัญญาประมูลดิวตี้ฟรีเป็นรายสนามบิน ที่อาจเป็นสูตร 3+1 ไม่ใช่ 4 สนามบิน 4 สัญญา ซึ่งก็ต้องนำกลับมาให้ที่ปรึกษาทำการศึกษาก่อนที่จะแก้ไขกรอบทีโออาร์ในขั้นตอนต่อไปได้” นายนิตินัยกล่าว

ยันพร้อมเดินตามกฎ กติกา

นายนิตินัยกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายยืนยันว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดพีพีพีนั้น หากผู้คุมกฎ กติการะบุชัดเจนว่า ต้องเข้า ทอท.ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะกระทบกับไทม์ไลน์การประมูลที่วางไว้แน่นอน ส่วนจะกระทบสั้นหรือยาวไม่สามารถตอบได้

“ผมและ ทอท.พร้อมที่จะรับฟังทุกฝ่าย เพื่อให้คอนเซ็ปต์เริ่มต้นเดินไปอย่างถูกต้อง ถ้ายังมีคนบอกว่าไปไม่ได้ ตรงไหนที่ไปไม่ได้ เราก็กลับมาปรับเปลี่ยน นี่คือเหตุผลที่เราต้องเลื่อนการซื้อซองทีโออาร์ออกไป หรือบอกให้รอบอร์ดพีพีพีเคาะก็ต้องรอ เพราะเราต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมาย และต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใสที่สุด ก่อนเดินหน้าต่อ” นายนิตินัยกล่าว

และว่า สำหรับประเด็นที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเรียกร้อง และให้ข้อเสนอแนะในหลากหลายประเด็นนั้นยืนยันว่า กรอบของทีโออาร์ที่ออกมานั้นเป็นเพียงข้อกำหนดแค่บางส่วนเท่านั้น อยากให้ผู้ประกอบการทุกรายได้ศึกษารายละเอียดของทีโออาร์ทั้งหมด เนื่องจากการประมูลครั้งนี้ ทอท.เปิดกว้างมาก อาทิ คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลดิวตี้ฟรี ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์บริหารด้านดิวตี้ฟรีเท่านั้น แต่ยังระบุว่าผู้ที่มีประสบการณ์บริหารห้างสรรพสินค้าก็สามารถเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีได้ เป็นต้น