“พีมูฟ” แถลง “5 ปี 100 ปัญหาคนจน” พบ คสช.ทำได้แค่ 3 เรื่อง

เครือข่ายภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ ในวาระการบริหารเกือบ 5 ปี คสช. พบแก้ได้เพียงบางส่วน ในขณะที่หลายเรื่องมีทั้งยังไม่สำเร็จหรือล้มเหลว

วันที่ 17 มีนาคม 2562 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ “5 ปี 100 กรณีปัญหาคนจน คืบหน้าเพียง 3 กรณี” ความว่า นับเป็นเวลากว่า 5 ปี ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พวกเราในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ P-move)”

ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีรูปธรรมกรณีปัญหากว่า 100 กรณี

รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการรายกระทรวง จำนวน 8 คณะ ซึ่งมีปลัดกระทรวงจำนวน 6 กระทรวงเป็นประธาน มาดำเนินการแก้ไขปัญหา

เราพบว่าท่านรัฐมนตรีสุวพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ฯ มีความตั้งใจแก้ไขปัญหา พยายามผลักดันให้มีการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีความคืบหน้าในทางปฏิบัติเพียง 3 กรณีเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคเกี่ยวกับกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานราชการ

แม้รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะ “ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งพิเศษเป็นจำนวนมาก และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกกฎหมาย 400 กว่าฉบับ

แต่กลับไม่มีการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะคนจน และในอีกด้านหนึ่งมีการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนอย่างมากมาย

เช่น การปลดล็อกกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติในเขต ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม

เช่น ปิโตรเลี่ยม เหมืองแร่ กังหันลม การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินในเขตป่า 99 ปี เพื่อประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ การอนุญาตให้นำพื้นที่ป่าไปประกอบธุรกิจเหมืองแร่

ส่งผลให้ข้อเสนอในการลดความเหลื่อมล้ำของภาคประชาชน เช่น โครงการโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชุมชน มีพื้นที่ดำเนินการกว่า 486 ชุมชน ในพื้นที่กว่า 50 จังหวัด มีโมเดลต้นแบบที่ได้รับการยอมรับเป็นจำนวนมาก ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน

ในอีกด้านหนึ่งได้มีการจัดเตรียมพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ต่ำกว่า 4 ล้านไร่ พร้อมทั้งจัดสิทธิพิเศษให้นักลงทุนอย่างมากมาย

ในขณะที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะ “ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ” แต่ไม่มีการปฏิบัติตามนโยบาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ในวาระครบรอบ 5 ปี การดำเนินงานภายใต้กลไกของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมีการสรุปผลการดำเนินงานเป็น 4 ระดับ ดังนี้

1. กรณีที่มีความคืบหน้า เห็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีจำนวน 3 กรณี ได้แก่

1.1) กรณีการจัดหาที่ดินให้นางเรียง คงทุ่ม และบุตรหลาน จำนวน 7 ครอบครัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ถูกยึดที่ดินทำกิน และถูกตัดฟันสวนยางพารา ต้องอพยพ มาอยู่ริมถนน

คณะกรรมการเห็นพ้องว่าให้มีการจัดที่ดินในรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในขณะนี้มีการจัดที่ดินให้แล้ว แต่ยังไม่มีการจัดระบบไฟฟ้าประปาถนนให้แล้วเสร็จ

1.2) การดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน สถาบันบริหารจัดการที่ดิน หรือ บจธ. ได้จัดซื้อที่ดินในพื้นที่โครงการนำร่อง 4 ใน 5 สหกรณ์ และเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีปัญหาการเข้าถึงที่ดิน หรือกำลังจะสูญเสียที่ดินในอีกหลายกรณี

แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อเพราะติดเงื่อนไขของ บจธ. รวมถึงการจัดซื้อที่ดินในโครงการนำร่องธนาคารที่ดินมีราคาสูงเกินไป

1.3) กรณีการดำเนินงานโฉนดชุมชนในพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการสำรวจขอบเขตพื้นที่ที่ขอดำเนินการโฉนดชุมชน และจัดทำแผนที่รายแปลง จำนวน 17 ชุมชน อยู่ในพื้นที่จ.ภูเก็ต

2. กรณีที่ยังแก้ไขปัญหาไม่แล้วเสร็จ ได้แก่

2.1) กรณีโฉนดชุมชน 486 ชุมชน ซึ่งค้างคามาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จากการเจรจา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

ผลการประชุมมีมติให้นำพื้นที่โฉนดชุมชน 486 ชุมชน ไปดำเนินการภายใต้กลไกของ คทช. และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้มีมาตรการในการคุ้มครองพื้นที่ ไม่ให้มีการจับกุมดำเนินคดี ให้สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีปกติ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานได้

โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานพิจารณาหาแนวทางดำเนินการ ได้ข้อสรุปว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจาณาของ ค.ร.ม.

แต่ติดขัดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เห็นชอบ จึงยังไม่สามารถหาแนวทางการคุ้มครองตามที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

2.2) กรณีคณะอนุกรรมการ 5 คณะ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ มีความล่าช้า บางกรณีถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งศาลพิพากษา ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ (2) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม

(3) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกะเหรี่ยง (4) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และ (5) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ

2.2.1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ กรณีงบพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่งคงตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนมา 80,000 บาท ต่อหน่วย ในปัจจุบัน แต่ไม่พอกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

เช่น ถมดิน ทำถนน ทำท่อระบายน้ำ ค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นทุกปีทำให้เราเรียกร้องให้ปรับขึ้นเป็น 100,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

เนื่องจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ต้องนำกลับมาให้กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพ

2.2.2) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และปัญหาที่ดินที่อยู่ ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่วมที่ดินของชาวบ้าน 9 ราย มาประมาณ 20 ปี ไม่สามารถทำเกษตร คณะกรรมการมีมติแก้ไขปัญหา

แต่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ค.ร.ม. ต้องนำกลับมาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ

3. กรณีล้มเหลว ได้แก่

3.1) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย เราคิดว่าน่าจะแก้ไขง่าย แต่กลับเป็นเรื่องที่หินที่สุด มีการประชุมหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์

ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าปัญหาเกิดจากการการประกาศแนวเขตของรัฐทับที่ดินชาวบ้าน ชาวบ้านต้องต่อสู้คดี ถ้าไม่มีเงินไม่มีทรัพย์สินก็ต้องไปนอนในคุก ทั้ง ๆ ที่มีการนำมาพิจารณาในอนุกรรมการจนได้ข้อยุติ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

กรณีกระบวนการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบไม่สามารถเพิกถอนเอกสารสิทธิที่คาดว่า หรือมีหลักฐานชี้ชัดว่าออกโดยมิชอบได้แม้แต่แปลงเดียว ไม่ว่าจะเป็นที่ ทับยาง จ.พังงา ที่หนองกินเพล จ.อุบลราชธานี ที่ภาคเหนือในหลายแปลง

ทั้งๆ ที่พบหลักฐานข้อเท็จจริง เช่น มีการซื้อที่ดินจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว มีการสร้างหลักฐานเท็จมาออกเอกสารสิทธิ

3.2) คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย พีมูฟได้มีการขับเคลื่อนจนมี พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับใหม่ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่านับถึงวันนี้มีผู้ที่ได้รับสัญชาติน้อยมาก

โดยเฉพาะพี่น้องไทยพลัดถิ่น พี่น้องลาวอพยพ รวมถึงพี่น้องชนเผ่า เพราะติดขัดที่กระบวนการในระดับพื้นที่ นายทะเบียนอำเภอไม่ดำเนินการต่อหลังจากมีการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย อนุกรรการชุดนี้มีการประชุมมีน้อยมาก และไม่ได้ข้อสรุป

3.3) คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านคดีความ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม มีการประชุมน้อย

หลายเรื่องที่เข้าสู่อนุกรรมการนี้มักจะได้ข้อสรุปที่เรียกกันติดปากว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่สามารถก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม เป็นความล้มเหลวในกระบวนการแก้ไขปัญหา

4. กรณีถดถอย ตอนเริ่มต้นแก้ปัญหาสถานการณ์ยังไม่เลวร้าย แต่ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างสาหัส บางกรณีถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งศาลพิพากษา ได้แก่

4.1) กรณีโคกภูพระ และกรณีโคกปออีกว้าง จ.ยโสธร อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย

4.2) กรณีบ่อแก้ว และกรณีโคกยาว จ.ชัยภูมิ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีสุวพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการดำเนินงานต่อจนกว่าจะมีคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการชุดใหม่

ตลอดจนจัดทำข้อมูล และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาส่งต่อให้รัฐบาลหน้า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะติดตามต่อไปจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข