โพลนิสิตจุฬาฯ เผย “ธนาธร” นำที่ 1 นั่งนายกฯ “ประยุทธ์” รั้งท้าย ส่วนใหญ่เลือกเพราะอุดมการณ์

วันที่ 15 มีนาคม 2562 ชมรมสภาจำลอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน เผยแพร่ผลสำรวจการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจความคิดเห็นของนิสิตจุฬาฯ กับการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการสะท้อนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

โดยดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-14 มี.ค.62 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,266 คน กระจายตามสัดส่วนโครงสร้างประชากรของนิสิตจุฬาฯ ระดับปริญญาตรีจากนิสิตทั้ง 19 คณะ และ 1 สำนักวิชา

เมื่อสำรวจความคิดเห็นว่า “ท่านต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” พบว่า ร้อยละ 53.8 เลือก “ธนาธร” ร้อยละ 23.7 เลือกชัชชาติ ร้อยละ 5.2 เลือกอภิสิทธิ์ และร้อยละ 4.3 เลือกสุดารัตน์ โดยเลือก “ประยุทธ์” ร้อยละ 2.8

เมื่อสำรวจความคิดเห็นว่า “ท่านจะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองใด” พบว่า ร้อยละ 70.8 เลือกพรรค “อนาคตใหม่” ร้อยละ 16 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.7 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.5 เลือกพรรคพลังประชารัฐ และ ร้อยละ 1.8 เลือกพรรคเสรีรวมไทย

ด้านผลสำรวจการตัดสินใจฯ ในคำถามที่ว่า “ปัจจัยใด “สำคัญมากที่สุด” ในการตัดสินใจเลือกของท่าน” เผยว่า ร้อยละ 41.7 “เลือกเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง” รองลงมาคือ ร้อยละ 27.9 เลือกเพราะชื่นชอบนโยบายที่ใช้หาเสียง

ด้าน “ปัจจัยใด “สำคัญน้อยที่สุด” ในการตัดสินใจเลือกของท่าน” ผลสำรวจเผยว่า ร้อยละ 46.4 “เลือกตามครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้าง” รองลงมา คือ ผู้สมัคร และ/หรือ พรรคที่ได้รับการสนับสนุนโดยบุคคลที่ท่านชอบหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง

ด้านคำถาม “นโยบายที่ท่านชอบ “มากที่สุด” คือข้อใด” พบว่า ร้อยละ 26.4 เลือก “ตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการ” และ ร้อยละ 11.4 เลือก “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร”

ด้าน นโยบายที่ไม่ชอบมากที่สุด สำหรับนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “สืบต่อโครงการประชารัฐ” นั้นสูงถึง ร้อยละ 23.8 รองลงมาคือ การเปิดเสรีซื้อขายกัญชา ร้อยละ 21.2

เมื่อสอบถามว่า “ลักษณะของผู้สมัครที่ท่านชอบ “มากที่สุด” คือข้อใด” พบว่า ร้อยละ 30.4 เลือก “ผู้สมัครที่น่าจะซื่อสัตย์หรือน่าไว้วางใจ” และ ร้อยละ 21.8 เลือก “ผู้สมัครที่มีความสามารถตรวจสอบ/คัดค้านคนอื่น”

ด้านคำถามว่า “ลักษณะของผู้สมัครที่ท่านชอบ “น้อยที่สุด” คือ ข้อใด” พบว่าร้อยละ 63.3 มองว่า “ผู้สมัครที่มีหน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอกดี” รองลงมาคือ ผู้สมัครที่เป็นที่รู้จักในเขตพื้นที่ของท่าน ร้อยละ 12.4

โดยผลสำรวจการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคำถามที่ว่า “ท่านจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในปีนี้หรือไม่” ผลปรากฎว่า 98.6% ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในปี 2562 ที่จะมาถึงนี้