กอปศ.ชี้นโยบายพรรคไม่ตอบโจทย์ ‘หมอธี’วอนอย่าใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วนี้ๆ ตน และ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งมอบ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยรายละเอียดของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ กอปศ.ได้ดำเนินการ กำหนดประเด็นการปฏิรูปการศึกษา เช่น การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เด็กปฐมวัย และเด็กกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แผน Quick Win ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปครูให้ทันสมัย การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปฏิรูปโรงเรียน และการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน เป็นต้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับแผนปฏิรูปฯ นี้ไว้ และกำชับให้ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ ตนมองว่าภาพรวมของแผนปฏิรูปฯ ดีแล้ว มีทิศทางที่ชัดเจน
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ใช้หาเสียงในขณะนี้ ได้ให้รายละเอียดอย่างกว้างๆ เท่านั้น รูปธรรม รายละเอียดวิธีการ และแนวทางการปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ยังไม่ชัดเจน เพราะนโยบายบางเรื่องหากทำไม่ได้จริง อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับนักเรียนในเรื่องการให้คำสัญญา และการเคารพคำพูดของตนเอง เช่น บางพรรคมีนโยบายเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี หรือเรียนฟรีถึงระดับอาชีวศึกษา ต้องคำนวณดูว่าการเรียนฟรีต้องใช้งบประมาณเท่าใด สุดท้ายถ้าจำนวนเงินไม่พอ คุณภาพการศึกษาจะลดลงหรือไม่ สอบถามประชาชนหรือยัง เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคการเมือง ตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาไทยหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะประชาชนอาจไม่สนใจมากนัก และพรรคการเมืองไปเน้นนโยบายด้านเศรษฐกิจมากกว่า จึงไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้
“ผมไม่อยากให้พรรคการเมืองต้องมาทะเลาะกันเรื่องนโยบายการศึกษา ว่าของใครดีกว่าใคร ในหลายๆ ประเทศ ตกลงกันว่าจะไม่เอาเรื่องการศึกษามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งผมก็อยากฝากไว้ว่าอย่าเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ กอปศ.เสนอ มีข้อดี นำมาใช้ได้ อย่าไปมองว่า กอปศ.ตั้งโดยรัฐบาล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ต่างหากที่ตั้ง กอปศ.ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปการศึกษา ข้อเสนอของ กอปศ.ที่ดี รัฐบาลใหม่นำมาใช้ และทำให้การศึกษาดีขึ้นได้ หากทำแบบนี้จะไม่มีประเด็นทางการเมือง และจะไม่ดิสเครดิตกันและกัน การศึกษาจะมั่นคง มั่งคัง และยั่งยืน” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นพ.จรัส กล่าวว่า กอปศ.กำลังจัดทำรายงานที่รวบรวมปัญหา วิธีการ และแนวทางแก้ไขการศึกษาไทย เช่น ปัญหาคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการจัดการแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศ ซึ่งรายงานฉบับนี้ กอปศ.จะเร่งจัดทำให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม หากพรรคการเมืองใดที่เข้ามาเป็นรัฐบาล สามารถนำรายงานของ กอปศ.ไปใช้พัฒนาการศึกษาไทยได้ทันที
“ขณะนี้มีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข หากรัฐบาลใหม่เข้ามา หลับหูหลับตามองไม่เห็นปัญหา เช่น มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ไม่แก้ไข หรือบอกว่าความเหลื่อล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาเล็กน้อย ไม่ต้องรีบแก้ ก็เป็นสิทธิของรัฐบาล แต่มองว่าถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คงไม่น่าจะเป็นรัฐบาลที่ดีนัก
ที่น่าสังเกตคือพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่เข้าใจปัญหา และกำหนดนโยบายการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ ผมมีข้อเสนอให้แต่ละพรรคการเมือง มองถึงปัญหา และเน้นพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โดยสร้างคุณภาพให้เท่าเทียมกัน และส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา เพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ผมยังไม่เห็นเป็นนโยบายด้านการศึกษาในพรรคการเมืองมากนัก” นพ.จรัส กล่าว

มติชนออนไลน์