สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้า แบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ให้หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ปชช. นำไปประดับตั้งแต่เม.ย.62-4พ.ค.63

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานตราสัญลักษณ์พร้อมความหมาย โดยรัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องสักการะ และขอเชิญชวนประดับตราสัญลักษณ์ ตามอาคารสถานที่ และบ้านเรือนเพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน และเพื่อให้ถูกต้องตามประเพณี ตามกฎหมาย มีความสง่างาม สมพระเกียรติ โดยปกติเวลาที่เรามีพระราชพิธีสำคัญจัดเป็นงานใหญ่ทั่วประเทศและในต่างประเทศ จำเป็นต้องมีศูนย์รวมให้รู้ว่าเป็นพิธีเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ตราสัญลักษณ์ ซึ่งเมื่อบัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม เมื่อได้ทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประธานที่ปรึกษา เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรกราบบังคลทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบให้มีสัญลักษณ์ในพระราชพิธีนี้ โดยมอบหมายให้ศิลปินหลายท่านออกแบบ ช่วยกันพิจารณาในที่ประชุมฯจาก 7-8 แบบ ก่อนจะนำขึ้นกราบบังคลทูลให้มีพระราชวินิจฉัย และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรุงจนได้แบบที่ตรงตามพระราชวินิจฉัย โดยมีพระราชอนุญาตให้รัฐบาลทำขึ้นเป็นต้นแบบอย่างเพื่อให้หน่วยงานต่างๆนำไปใช้ประดับในห้วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 อย่างไรก็ตามตราสัญลักษณ์นี้จะปรากฎใน 6 แห่ง คือ 1.เครื่องใช้ในพระราชพิธีคนโทน้ำ จาก 108 แห่งทั่วประเทศ 2.การทำซุ้ม 3.ธงสัญลักษณ์ 4.เสื้อหรือหมวก 5.เข็มตราสัญลักษณ์ และ 6.การนำสัญลักษณ์ไปใช้ โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประดับใน แก้วน้ำ ขวดแกเว จาน ชาม ช้อน แจกัน เหยือกน้ำ กำไล จี้ กล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เว้นแต่สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการนำไปเผยแพร่ในรูปของแผ่นพับหรือสติ๊กเกอร์จะต้องใช้สีที่ถูกต้องตามต้นแบบ และขอเชิญชวนประชาชนร่วมแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองพร้อมเพียงกันทั้วประเทศในวันที่ 6 พฤษภาคม

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท ห้าง ร้าน ที่มีความประสงค์จะเชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับหรือประดิษฐาน ให้มีหนังสือแจ้งความประสงค์พร้อมแบบ คำขอใช้ตราสัญลักษณ์ ไปที่ คณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทร. 0 2283 4228-9 โทรสาร 0 2283 4248-9 ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม- 4 พฤษภาคม 2563 โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (www.opm.go.th) ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแบบเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ โดยด้านหน้าเป็นแบบตราสัญลักษณ์ ส่วนด้านหลังมีคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562” ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึกฯ เพื่อจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนได้อัญเชิญไปประดับในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขึ้นแบบเข็มที่ระลึก ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกฯ ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย รัฐบาลจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ในส่วนของเสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำเสื้อต้นแบบ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้พร้อมกับเข็มที่ระลึกฯ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 โดยในวันที่ 31 มีนาคม 2562 จะเปิดจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปเป็นปฐมฤกษ์ จำนวนอย่างละ 20,000 ณ อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์

สำหรับตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 ประกอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอีกษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ(สีน้ำเงินเข้ม)​ อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง พระมหาพิชัยมงกุฎหมายถึงทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนพระแสงขรรค์ชัยศรีหมายถึงทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย ธารพระกรหมายถึงทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนีหมายถึง ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ฉลองพระบาทเชิงงอนหมายถึงทรงทำนุบำรุงปวงประชาทวดรัฐสีมาอาณาจักร เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุด ห้อยอุบะจําปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า”พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562″ ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อนประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาว ประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน