‘หมอเลี๊ยบ’ เผยวิธี เลือกตั้งอย่างไร? ให้ฝ่ายประชาธิปไตย ชนะถล่มทลาย!

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อธิบายสูตรการคำนวณ ที่มาของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าจะต้อง “เลือกอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อชนะขาดอย่างถล่มทลาย” ดังนี้

1. การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งไปมากมาย จนผู้ไม่ได้ติดตามใกล้ชิดย่อมรู้สึกงุนงง กติกาบางอย่างก็น่าพิศวง จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจงุนงงไปด้วยเช่นกันว่า มาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร

2. กติกาหนึ่งซึ่งไม่เหมือนเดิมคือ ทุกคะแนนในคูหาเลือกตั้งไม่ “ตกน้ำ” ทุกคะแนนถูกนำมานับเป็นคะแนนรวมของพรรคการเมือง เพื่อคำนวณเป็น “ส.ส.พึงมี”

3. เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอใช้ตัวเลขในการคำนวณที่เรียบง่ายต่อการเข้าใจ แต่ตัวเลขจริงไม่ง่ายๆ เช่นนี้

4. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ 50,000,000 คน คาดการณ์ว่า มีความตื่นตัวในการมาใช้สิทธิมากกว่าเดิมในปี 2554 โดยมาใช้สิทธิเพิ่มจาก 75% เป็น 80% ดังนั้น จำนวนผู้มาใช้สิทธิคือ 80% ของ 50,000,000 คน เท่ากับ 40,000,000 คน

5. จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร คือ 500 คน ดังนั้น วิธีการหาว่าพรรคการเมืองจะได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน ต้องใช้คะแนน Vote จากผู้ใช้สิทธิเท่าไร เราสามารถคำนวณคะแนนง่ายๆ โดยใช้ตัวเลข 40,000,000 หารด้วย 500 เท่ากับ 80,000 (ความจริงต้องหักบัตรเสีย และบัตรที่ Vote No แต่ขอละไว้เพื่อความง่าย)

ดังนั้น ทุก 80,000 คะแนน พรรคการเมืองนั้นๆ จะได้ “ส.ส. พึงมี” 1 คน
6. เรามาคำนวณกันต่อว่า ในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่าไร โดยใช้ตัวเลขผู้มีสิทธิทั้งหมด หารด้วย จำนวนเขตเลือกตั้ง คือ 50,000,000 หารด้วย 350 เท่ากับ 142,857 คน

7. แต่ละเขตเลือกตั้ง มีผู้มาใช้สิทธิ 80% ดังนั้น จำนวนผู้ใช้สิทธิคือ 80% ของ 142,857 เท่ากับ 114,285 คน

8. ในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีผู้สมัครมากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่ต่ำกว่า 3 คน หากมีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกิน 50% ควรอนุมานได้ว่า ย่อมชนะเลือกตั้งในเขตนั้น

ดังนั้น ผู้ชนะในเขตเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องการคะแนนมากที่สุดเพียง 50% ของ 114,285 เท่ากับ 57,143 คะแนน

9. เราเห็น Arbitrage* ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไหมครับ (*Arbitrage คือ ศัพท์ในทางธุรกิจ ที่กล่าวถึงการแสวงหากำไรจากสินค้าชนิดเดียวกัน คุณภาพเหมือนกัน แต่ขายราคาต่างกันในตลาด 2 แห่ง โดย Arbitrage เกิดขึ้นเมื่อซื้อสินค้าราคาถูกกว่าในตลาดหนึ่ง มาขายแพงขึ้นแล้วทำกำไรในอีกตลาดหนึ่ง)

การได้มาของ ส.ส. 1 คน จากเขตเลือกตั้งต้องการ 57,143 คะแนน แต่การได้มาของ “ส.ส.พึงมี” จากผลรวมคะแนนทั้งประเทศ ต้องการ 80,000 คะแนน

10. พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 250 เขต โดยน่าจะพิจารณาจากความนิยมของพรรคและฐานคะแนนจากการเลือกตั้งในอดีต

ดังนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าชนะในทุกเขตเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 250 คน ต้องการเพียง (250 คูณด้วย 57,143 เท่ากับ) 14,285,750 คะแนน

แต่ถ้าใช้คะแนนรวมทั้งประเทศ และตั้งเป้า “ส.ส.พึงมี” 250 คน พรรคเพื่อไทยต้องการถึง (250 คูณด้วย 80,000 เท่ากับ) 20,000,000 คะแนน

ต่างกันถึง 5,714,250 คะแนน!

และแน่นอน ในกรณีนี้ จำนวน ส.ส.จากเขตเลือกตั้งเกินกว่าจำนวน “ส.ส.พึงมี” แล้ว พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

11. ยังครับ ความน่าพิศวงยังไม่จบ จำตัวเลข 80,000 แล้วได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน ได้ใช่ไหมครับ ตัวเลข 80,000 นี้ไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย แต่ยังเปลี่ยนไปได้อีกตามสถานการณ์ที่แตกต่างไป เพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 มีกติกาอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในการคำนวณหา “ส.ส.พึงมี”

กติกาที่ว่า ก็คือ คนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จากเขตเลือกตั้งนั้น เป็นแล้วเป็นเลย แม้พรรคการเมืองที่ ส.ส.คนนั้นสังกัด ได้จำนวน “ส.ส.พึงมี” จากการคำนวณน้อยกว่า จำนวน ส.ส.จากเขตเลือกตั้งก็ตาม

ผมขอชวนให้คิดต่อจาก สถานการณ์จำลอง 3 แบบ
12. แบบที่ 1 พรรคเพื่อไทย ชนะทั้ง 250 เขต ได้คะแนนเขตละ 57,143 คะแนน รวมได้รับ 14,285,750 คะแนน หมายความว่า คะแนนที่เหลือของพรรคอื่นๆ รวมกัน คือ (40,000,000 ลบด้วย 14,285,750 เท่ากับ) 25,714,250 คะแนน
.
เมื่อเหลือ ส.ส.อีก 250 คน ดังนั้น คะแนนที่ต้องการเพื่อได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน เท่ากับ 25,714,250 หารด้วย 250 เท่ากับ 102,857

ในสถานการณ์นี้ 80,000 คะแนน ไม่ได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน แล้ว แต่ต้องการถึง 102,857 คะแนน

13. แบบที่ 2 พรรคเพื่อไทย ชนะ 200 เขต และในเขตที่แพ้ 50 เขต มีคะแนน Vote 20% จึงคำนวณแล้วรวมได้รับ 12,571,450 คะแนน หมายความว่า คะแนนที่เหลือของพรรคอื่นๆ รวมกัน คือ (40,000,000 ลบด้วย 12,571,450 เท่ากับ) 27,428,550 คะแนน

เมื่อเหลือ ส.ส.อีก 300 คน ดังนั้น คะแนนที่ต้องการเพื่อได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน เท่ากับ 27,428,550 หารด้วย 300 เท่ากับ 91,429

ในสถานการณ์นี้ 80,000 คะแนน ไม่ได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน แล้ว แต่ต้องการถึง 91,429 คะแนน

14. แบบที่ 3 พรรคเพื่อไทย ชนะ 150 เขต ในเขตที่แพ้ มีคะแนน Vote 20% รวมได้รับ 10,857,150 คะแนน หมายความว่า คะแนนที่เหลือของพรรคอื่นๆ รวมกัน คือ (40,000,000 ลบด้วย 10,857,150 เท่ากับ) 29,142,850 คะแนน

เมื่อเหลือ ส.ส.อีก 350 คน ดังนั้น คะแนนที่ต้องการเพื่อได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน เท่ากับ 29,142,850 หารด้วย 350 เท่ากับ 83,265

ในสถานการณ์นี้ 80,000 คะแนน ไม่ได้ “ส.ส.พึงมี” 1 คน แล้ว แต่ต้องการถึง 83,265 คะแนน

15. สถานการณ์ทั้ง 3 แบบนี้เป็นตัวอย่างจำลองที่คิดคำนวณแบบคร่าวๆ แต่ในสถานการณ์จริงจะมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านี้มากมาย

“ผมเพียงอยากชี้ให้เห็น 2 ประเด็นคือ 1. การชนะในเขตเลือกตั้งได้เปรียบที่สุดในกติกาแบบนี้ 2.ตัวเลขในการคำนวณหา ส.ส.พึงมี เปลี่ยนแปลงได้มากถึงกว่า 25% หากเกิดสถานการณ์ที่พรรคการเมืองหนึ่งชนะในเขตเลือกตั้งจำนวนมาก”

16. เพื่อสรุปสั้นๆ สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย

การเลือกครั้งนี้คือการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ชี้ขาดอนาคตของบ้านเมือง จะเรียกแบบที่ชาวมาเลเซียใช้เรียกการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเขาก็ได้ว่า นี้คือ “Mother of All Elections”

ดังนั้น การกาบัตรในคูหาเลือกตั้งจึงไม่ใช่เพียงไปเลือก “คนที่รัก พรรคที่ชอบ” แต่ต้องเป็นการไปเลือกโดยใคร่ครวญอย่างมียุทธศาสตร์แล้วว่า จะเลือกอย่างไรให้ “ฝ่ายประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลาย” มากที่สุด

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ต้องเลือกอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic Voting – SV) และเมื่อมี Arbitrage ในการเลือกตั้ง การเลือกเชิงยุทธศาสตร์จะยิ่งมีพลังและความหมายมากขึ้น

ข้อเสนอประการที่ 1 : ในเขตที่พรรคเพื่อไทยลงสมัคร
หากคุณมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่รักและหลงใหลอย่างยิ่ง ต้องไปเลือกให้ได้…ก็เลือกพรรคการเมืองนั้น

แต่หากคุณไม่มีพรรคการเมืองในใจอย่างที่กล่าวถึง และต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ข้อเสนอประการที่สอง : ในเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงสมัคร
หากคุณมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่รักและหลงใหลอย่างยิ่ง ต้องไปเลือกให้ได้…ก็เลือกพรรคการเมืองนั้น

แต่หากคุณไม่มีพรรคการเมืองในใจอย่างที่กล่าวถึง และต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่มีโอกาสชนะสูสีในเขตนั้น (ซึ่งเขตเหล่านี้มีอยู่จริง แต่ไม่มากนัก)

ส่วนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหลายพรรคที่ได้รับความนิยมในภาพกว้าง แต่ไม่สามารถชนะเลยสักเขต (ซึ่งอาจเป็นคนที่คุณรัก พรรคที่คุณชอบ) ก็สามารถรวมรวมคะแนนทั้งประเทศเพื่อคำนวณ “ส.ส.พึงมี” ต่อไป

นพ.สุรพงษ์ ตั้งข้อสังเกต ว่า พรรคเพื่อไทยชนะในเขตเลือกตั้งยิ่งมากเขตเท่าใด จะยิ่งยกระดับคะแนนที่ต้องการเพื่อได้ “ส.ส.พึงมี” มากขึ้นเท่านั้น (เช่น จาก 80,000 คะแนน ไปถึงกว่า 100,000 คะแนนในสถานการณ์จำลองแบบที่ 1) พรรคการเมืองทั้งสองฝ่าย (ไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายผู้มีอำนาจ) ที่ชนะในเขตเลือกตั้งน้อย หรือไม่ชนะเลย ต่างได้รับผลกระทบกับจำนวน ส.ส.ที่ได้รับแน่นอน

ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองที่ตั้งเป้าได้ ส.ส.100 คน จากเดิมคาดว่าได้ 8,000,000 คะแนนก็เพียงพอ แต่ในสถานการณ์จำลองแบบที่ 1 ข้างต้นต้องใช้ถึง 10,285,700 คะแนน เพิ่มขึ้นถึง 2,285,700 คะแนนทีเดียว