เลือกตั้ง 62 : เสียงวิจารณ์ผู้ใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักร “จากคูหากระดาษลังถึงบัตรหาย”

วันที่ 10 มีนาคม สุดสัปดาห์นี้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้เริ่มขึ้นในหลายประเทศโดยกำหนดระหว่างวันที่ 4-16 มีนาคม 2562 เพื่อให้คนไทยในต่างแดนได้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฎออกมาโดยเฉพาะบนโลกโซเชียล คือความวุ่นวาย ความเบื่อหน่ายเหนื่อยล้าและความผิดปกติจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะกรณีเมื่อวานนี้ที่ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีชาวไทยเข้าแถวรอใช้สิทธิ์จนเป็นแถวยาว เกิดเสียงบ่นว่าต้องรอนานหลายชั่วโมงจนบางคนถอนใจกลับบ้าน หรือการกำหนดวันลงเพียงวันเดียว ทำให้หลายคนที่เดินทางจากรัฐอื่นของมาเลเซียแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้ขยายเวลาเพิ่มจนต้องขยายเพิ่มอีกเป็นวันนี้

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการจัดการเลือกตั้ง ณ สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ได้ปรากฏข่าวว่ามีความขลุกขลักอยู่บ้าง สอท.ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดคูหาเลือกตั้งเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการลงคะแนนในวันที่ 9 มีนาคม จากเดิม 17.00 น. จนถึงเวลา 21.30 น. จนผู้ที่มารอใช้สิทธิคนสุดท้ายสามารถลงคะแนนได้ รวมทั้งได้ขยายเพิ่มวันให้คนไทยมาลงคะแนนเสียงในวันที่ 10 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าผู้ใช้สิทธิคนสุดท้ายได้เดินทางมาลงคะแนนเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

นอกจากการรอคิวที่นานแล้ว อีกสิ่งที่เรียกร้องคือ คูหาให้ลงคะแนนน้อยไป ทำให้ต้องจัดหาคูหาเพิ่ม แต่นั้นก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะคูหาเสริมสำหรับให้ผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนน ทำมาจากลังกระดาษธรรมดาที่ไม่แข็งแรง กลายเป็นภาพที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียลจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปไกลถึงงบประมาณที่ กกต.ได้จัดสำหรับการเลือกตั้งในต่างแดนที่กลายเป็นภาพสะท้อนความไม่พร้อมและความไม่คุ้มค่าของงบที่ได้กับสิิ่งที่ให้กับคนไทยผู้ใช้สิทธิ์ในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)​ กล่าวถึงดังกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าสามารถทำได้ไม่มีปัญหาเพราะการลงคะแนนยังเป็นไปโดยตรงและลับตามที่กฏหมายกำหนด เพียงแต่อาจดูไม่สวยงาม ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทางสถานเอกอัคราชทูตอาจมีคูหาไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ปัญหาลักษณะดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดกฏหมายเลือกตั้งแต่อย่างใด ส่วนกรณีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่มีการแชร์ภาพเอกสารให้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.เขต 13 ซึ่งมีความคลุมเครือเรื่องชื่อพรรคนั้น กำลังให้มีการตรวจสอบเอกสารดังกล่าว แต่ผู้มีสิทธิยังสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครได้จากช่องทางอื่น อาทิ แอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบการแชร์ข้อความจากสมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่า เห็นใจเจ้าหน้าที่กงศุล ในประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเองค่อนข้างดี ได้ยินว่า ไม่มีงบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้ง ต้องออกเงินเองแล้วค่อยเอาใบเสร็จไปเบิก

รวมถึง ยังมีกรณีตัวอย่างที่ปรากฎในทวิตเตอร์ อาทิ ผู้ใช้รายหนึ่งทวิตเล่าถึงบรรยากาศการใช้สิทธิ์ในจีน โดยระบุว่า

“เลือกตั้งรอบนี้โปร่งใสที่สุดแล้ว 55555555 พูดในฐานะเลือกตั้งในจีน เขตดูแลกงสุลเซี่ยงไฮ้ แต่อยู่เมืองหนานจิง 1.บัตรเลือกตั้งของคนในนี้หายไป 500 กว่าใบ มันหมายถึงคนที่ไม่ได้รับบัตรมีมากถึง 500 กว่าคน 2.กงสุลเอาเบอร์ใครไม่รู้มาใส่แทนเบอร์เรา”

ผู้ใช้ทวิตรายเดียวกันนี้ยังทวิตอีกว่า “จากข้อ 2. กงสุลเซี่ยงไฮ้โยนความผิดมาให้เราว่าเราไม่ใส่เบอร์ ทีแรกเกือบเชื่อละว่าไม่ใส่เบอร์ แต่เอะใจเรื่องสำคัญขนาดนี้ไม่ใส่เบอร์ได้ไงวะ เลยไปเปิดหลักฐานดู เอ้ากูใส่วะ แล้วทำไมบอกกูไม่ใส่ แล้วมายัดเยียดให้เราอีก”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการวิจารณ์ถึงความสับสนของข้อมูลผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.อย่างกรณีของ น.ส.ณิชชา บุณลือ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรอนาคตใหม่ เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง แต่ชื่อพรรคตรงหัวข้อมูลผู้สมัครกลับเป็นพรรคพลังธรรมใหม่ จนสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้สิทธิ์ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่แชร์ภาพดังกล่าวได้แจ้งให้ทุกคนตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครและชื่อพรรคการเมืองอีกครั้ง

นับว่าเป็นสุดสัปดาห์ของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่พบปัญหาหลายกรณีในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหลายคนอยู่ระหว่างดูการเลือกตั้งในต่างประเทศ คาดว่าสัปดาห์นี้ กกต.จะต้องชี้แจงหลายกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อคลายความคลางแคลงใจของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังถูกวิจารณ์ถึงการปฏิบัติตามหลักกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง ซึ่งถูกมองว่าดำเนินการแบบเล่ือกปฏิบัติกับบางพรรคการเมือง