จับตาวันนี้! ร่าง พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ เข้า สนช. ห่วงแค่สงสัย มีอำนาจค้น-ล้วง-ยึดได้

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 การพิจารณาร่างกฎหมายโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประเด็นที่ประชาชนจับตามองโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย พบว่า มีการเร่งพิจารณากฎหมาย โดยในวันนี้ (27 ก.พ.) จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ… และ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ พบว่า กำลังมีความกังวลในการผ่านกฎหมายดังกล่าว จนทำให้แฮชแท็ก #พรบไซเบอร์ ติดเทรนด์ของประเทศไทยในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีเนื้อหาสำคัญคือ มีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีนายกฯเป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกซ.) มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และคณะกรรมการส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ(กสส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน และเปิดช่องให้ กปช. ตั้งคณะกรรมเฉพาะด้านอื่นได้อีก รวมทั้งมี คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(คกส.) มีรมว.ดีอี เป็นประธาน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง 2.ร้ายแรง และ3.วิกฤต สำหรับการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม ระดับร้ายแรง เจ้าหน้าที่ Cyber Security สามารถเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ โดยเหตุเเค่เพียงต้องสงสัย โดยไม่ได้เริ่มคดีเเละไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ขอหมายค้นจากศาล โดยให้ กปช. หรือ กกซ. ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนฉุกเฉิน และหากเป็นภัยคุกคาม ระดับวิกฤต ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายนี้

ทั้งนี้ กปช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้แจ้งต่อศาล