นายกสภาทนายดันเเก้ป.วิอาญา ส่งทนายประจำประจำโรงพักให้คำปรึกษาปชช.ฟรี

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่สภาทนายความ ถนนพหลโยธิน บางเขน ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ เปิดงาน”วันสภาทนายความ” มีอดีตนายกสภาทนายความอาทิ นายสัก กอแสงเรือง และทนายความที่มีชื่อเสียงไปร่วมงานจำนวนมาก

ว่าที่ร.ต.ถวัลย์ กล่าวว่าวันนี้เป็นวันทนายความซึ่งเป็นวันสำคัญของทนายความทั่วประเทศ มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทนายความผู้ล่วงลับไปแล้วเเละมีการจัดสัมนากฎหมายใหม่ๆซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทนายความไปมีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเรื่องการนำผู้ต้องหามาเเถลงข่าวหรือการเเจ้งความทุกพื้นที่ เเละได้มีการเสนอ ครม.เเก้ ป.วิอาญาเเล้ว และที่จะผลักดันต่อไปคือการที่จะมีทนายความประจำ สน.ทุกโรงพักทำให้ประขาชนได้รับประโยชน์มีที่ปรึกษากฎหมายเบื้องต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นคดีเเพ่งหรืออาญา โดยในยุคที่ตนเป็นนายกฯสภาทนายเเละฐานะที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตนได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวจนเกือบจะเสร็จสิ้นเเล้ว เริ่มเเรกก็จะให้มี 150 สน.ก่อนที่จะขยายให้ครบ 1,482 สน.ทั่วประเทศ ซึ่งต้องค่อยผลักดันกันไป ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย ทนายความก็ได้ค่าตอบเเทนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ตรงนี้เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำ

ก้าวในวันนี้ของสภาทนายความเรากำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพความรู้ความสามารถมาตรฐาน โดยเฉพาะทนายความอาสาที่จะช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นมาตรฐานที่ดี เราจะเน้นการให้ความรู้ตลอดเวลา มาตรฐานทนายความคือความเชื่อถือความไว้วางใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญนอกจากความสามารถเเล้วยังมีความซื่อสัตย์สุจริตที่จะดำเนินการเรื่องกฎหมายได้

ทุกวันนี้ก็มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนางานทนายความให้เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มบทบาทให้ทนายความในการเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน การเป็นส่วนหนึ่งในการสอบปากคำพยาน ผู้เสียหาย กับผู้ต้องหาที่เป็นเด็กให้มากขึ้น ปัจจุบัน ทนายความไม่ได้ทำงานที่ศาลเท่านั้น แต่ใครขึ้นโรงพักมักจะเห็นทนายความไปด้วย เพราะเห็นว่าทนายความเป็นวิชาชีพน่าเชื่อถือคุ้มครองประโยชน์แก่เขาได้

ต่อไปนอกจากร่วมฟังการสอบสวนอาจจะมีการพัฒนา ที่จะให้ทนายความมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ซึ่งอาจจะต้องมีการเเก้ไข ป.วิอาญา มาตรา172ทวิ เป็นเรื่องการสืบพยานลับหลัง ซึ่งตามบันทึกหลักการเเละเหตุผลที่จะให้ทนายความมีบทบาททดเเทนมากขึ้น เช่น คดีอาญาถ้าจำเลยไม่มาหลบหนีเเล้วมีทนายศาลก็จะสืบพยานเเละตัดสินได้เลยจะคล้ายกับ วิ อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการเสนอเเก้ไขไปเเล้วรอประกาศราชกิจจานุเบกษา ส่วนเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจะกระทบสิทธิหรือไม่นั้นคนที่เป็นทนายความจะค้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่เเทนจากทนายความที่ได้รับการเเต่งตั้ง หรือคดีร้องขอปล่อยตัวจากการขังโดยไม่ชอบตามมาตรา90 ก็ให้ทนายความมีอำนาจร้องศาลให้ปล่อยตัวจากการขังที่ไม่ชอบให้ชัดเจนขึ้น

ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ยังกล่าวถึงทนายความที่นำเนื้อหาในคดีความมาพูดออกโลกโซเชี่ยลว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะการให้ข้อเท็จจริงต่างๆเป็นผลกระทบต่อคู่ความ ซึ่งบางครั้ง กระทบกับบุคคลอื่น บางครั้งยังไปโยงกับคดีอื่น เช่นหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมฯ ฉนั้นการให้สัมภาษณ์ของทนายในคดีต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มีคนอัดคลิปที่ทนายเหล่านี้พูดออกสื่อไปประกอบคดี ก็ต้องฝากให้ระมัดระวัง ซึ่งทางสภาทนายความก็มีทีมมรรยาททนายความเป็นผู้พิจารณาอยู่ ต้องดูเป็นเรื่องๆไป

“ถ้าอันไหนเป็นความรู้เป็นประโยชน์ของข้อกฎหมายก็เป็นเรื่องดีให้ประชาชนได้รับความรู้ทางกฎหมายเเต่ทนายความพึงระมัดระวังอย่าเข้าไปในข้อเท็จจริงในคดีบางเรื่อง ส่วนเรื่องการโฆษณาตัวเองเราดูเจตนารมย์ได้ว่าอยากเผยเเพร่ความรู้ หรือเจตนาอื่น” นายกสภาทนายความกล่าว

มติชนออนไลน์