‘บิ๊กตู่’ ชี้เป็นอำนาจกก.วัตถุอันตราย แบน-ไม่แบนพาราควอต ปัดไม่รู้ กลุ่มทุนเบื้องหลัง

“บิ๊กตู่” ชี้เป็นอำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตราย แบน-ไม่แบนพาราควอต ยันต้องลด-ละ-เลิก ให้เร็วที่สุด ไม่รู้มีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง หนุนเดินหน้าสู่เกษตรอินทรีย์

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยังไม่แบนสารเคมีอันตรายพาราควอตว่า รัฐบาลก็มุ่งหวังจะให้มีการยกเลิกการใช้ในอนาคต แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดออกมา แต่วิธีการที่กำชับไปก็คือ ขอให้ตอบคำถามทุกคนทุกฝ่ายให้ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิของคณะกรรมการฯเป็นผู้กำหนด ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าตามแผนอย่างนี้ เพื่อไปสู่การลด ละ เลิก ให้ได้ ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด วันนี้ก็ชอบพูดกันมากกลุ่มทุนสารเคมี ตนก็ไม่รู้ว่าใคร กลุ่มทุนที่บอกมานั้นเป็นใคร ถามว่ามีบทบาทกำหนดทิศทางสารเคมีของไทย ก็ไปดูให้ดีแล้วกัน ตนคิดว่าบางทีก็เป็นการมองหาวิธีการพูดให้มันเสียหาย

“ถ้าเรายังสร้างความเสียหาย ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันต่อไปในวันนี้ วันหน้าหลายสิ่งก็เกิดไม่ได้ ก็ได้พยายามทำหลายอย่าง ให้เกิดการยอมรับ ให้เกิดความเชื่อมั่น การแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผมก็พูดไปหลายครั้ง รัฐบาลนี้มีการลงโทษมากมาย มูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ก็ยังไม่สนใจกัน ซึ่งทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เข้ามาเสนอ เข้ามามีส่วนร่วมในทางที่เป็นไปได้ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันเลย แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งผมเองก็ติดตามทุกวันในการแก้ปัญหา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในเรื่องการทำเกษตรก็เช่นกัน ตนอยากอธิบายว่าเกษตรเรามีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.เกษตรดั้งเดิม 2.การเกษตรที่ใช้สารเคมี ซึ่งการใช้สารเคมีอะไรต่างๆ ก็ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะมุ่งไปสู่การทำเกษตรจีเอพี คือเกษตรที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด มีการตรวจสอบ มีการขึ้นทะเบียน วันนี้ก็เพิ่มมากขึ้นหลายล้านไร่ และ 3.คือการเกษตรอินทรีย์ ก็มีเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านไร่อีกเหมือนกัน เราต้องแยกเป้าหมายให้ออก เราต้องผลักดันเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรจีเอพี แล้วไปสู่อินทรีย์ ไปดูตัวเลขเหล่านี้มีมากมาย อย่ามาบ่นว่าเราไม่ดูแล เพราะที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปมากมายมหาศาลก็ลงไปดูแลทั้งหมดทุกภาคส่วน การสร้างความเข้มแข็งด้วย ให้ความรู้ อบรม พัฒนา รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือเมื่อมีความเดือดร้อน การประกันข้าว ประกันข้าวโพด ประกันอะไรต่างๆ ก็ใช้เงินไปมหาศาล หลายแสนล้านบาทของเกษตรกรและอื่นๆ อีกด้วย ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข ถ้าท่านบอกว่าเอาตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ แล้วตรงโน้นลดลงไปเลย ถามว่าความสมดุลของประเทศมันจะเกิดไหม ฝากไปคิดตรงนี้เป็นการบ้านแล้วกัน ช่วยกันคิดนะจ้ะ

มติชนออนไลน์