ปชป. วอน สนช. หยุดพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว เปิดทางให้ ‘สภาที่มาจากปชช.’ ทำดีกว่า

ปชป. วอน สนช. หยุดพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว เปิดทางให้ “สภาจากประชาชน” ตรวจสอบผลกระทบชาวนาดีกว่า

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายศุภชัย ศรีหล้า คณะทำงานนโยบายพรรคปชป. แถลงถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)สนช. จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ ว่า พรรคปชป. ได้ติดตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาโดยตลอด เดิมทีมีความเห็นกันว่า สนช. น่าจะพิจารณาเพียงวาระแรก ส่วนวาระ 2 และ 3 นั้น เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง คงจะไม่ได้หยิบยกเอา ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาพิจารณา แต่ในวันนี้เมื่อทราบว่าจะมีการนำ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ทางพรรคฯ จึงมีความกังวลใจในหลายประเด็น คือ 1. ในเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ หลังจากที่พรรคฯ ได้ศึกษาครบถ้วนแล้วกลับไม่ปรากฎว่ามีเนื้อหาสาระที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวนาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการที่จะทำให้สหกรณ์ชาวนามีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าสหกรณ์ชาวนาเป็นที่รวมของผู้ประกอบอาชีพในแต่ละด้าน เมื่อใดในพ.ร.บ. ข้าวไม่มีสาระที่ว่าด้วยเรื่องนี้ นั่นแปลว่าความสมบูรณ์ก็จะขาดหายไป

นายศุภชัย กล้าวว่า 2. ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไม่มีสาระที่เกี่ยวกับเรื่องสมาร์ท ฟาร์ม ราเป็นความตั้งใจของพรรคปชป. ซึ่งทางพรรคฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรไว้ 3. ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไม่ปรากฎสาระในเรื่องของสมาร์ท ฟาเมอร์ หรือกลุ่มที่เป็นทายาทชาวนา ซึ่งพรรคฯ ก็ได้วางแนวทางในการสร้างชาวนารุ่นใหม่ขึ้นเช่นกัน ดังนั้นข้อกังวลใจของทางพรรคฯ โดยเฉพาะในมาตรา 20 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดทำระบบข้อมูลข้าวเปลือกของประเทศ รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการซื้อขายข้าวเปลือกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกออกใบรับซื้อข้าวเปลือกทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานในการรับซื้อข้าวเปลือกและให้ส่งสำเนาใบรับซื้อข้าวเปลือกไปให้กลุ่มการข้าว โดยมุ่งเน้นวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ นั่นแปลว่านับจากนี้ไป ถ้าชาวนาไปขายข้าวที่โรงสี โรงสีก็ต้องออกใบรับซื้อและแจ้งเอกสารการรับซื้อนั้นมายังกรมการข้าว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อใดที่มีการแจ้ง นั่นแปลว่าโรงสีก็จะออกใบรับว่าคุณซื้อข้าวชนิดใด จากชาวนาท่านใด จากแปลงนาใด

“ความเกี่ยวโยงดังกล่าว ถ้ามีการแจ้งเรื่องนี้ นั่นเท่ากับว่าพันธุ์ข้าว ซึ่งตาม พ.ร.บ.ข้าว ต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการอนุมัติโดยกรมการข้าวเท่านั้นจึงจะสามารถทำการซื้อ ขายได้ แม้ว่าชาวนาสามารถแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวได้ ชาวนาสามารถเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองได้ แต่ปลายทางสำคัญที่สุด ที่พรรคฯ โดยคณะกรรมการนโยบายกังวลใจก็คือ ปลายทาง หรือปลายน้ำเรื่องการทำธุรกิจข้าวอยู่ที่โรงสี ถ้าโรงสีไม่ซื้อพันธุ์ข้าวที่เป็นพันธุ์ข้าวของชาวนาแต่ซื้อเฉพาะข้าวที่เป็นพันธุ์ ที่โรงสีต้องการเท่านั้น นั่นแปลว่า ระบบการค้าข้าวในประเทศจะถูกควบคุมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์เป็นต้นไป ถ้าเมื่อใดถูกควบคุมโดยกลุ่มธุรกิจที่ควบคุมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต นั่นเท่ากับเป็นการควบคุมระบบพันธุ์ข้าวของประเทศโดยรวม” นาย ศุภชัยกล่าว

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. ซึ่งเป็นผู้เสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้กับ สนช. ได้เข้าชี้แจงภายหลังเสนอกฎหมายกับพรรคปชป. ซึ่งทางพรรคฯ ก็ได้ท้วงติงว่า หากมีการรับซื้อข้าวเฉพาะพันธุ์ข้าวที่โรงสีต้องการ และเป็นพันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับผู้จำหน่าย ซึ่งอาจจะมีกลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่มเป็นผู้ผลิตพันธุ์ข้าว เพียงไม่กี่พันธุ์ นั่นแปลว่าพันธุ์ข้าวในประเทศนี้ก็จะเป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกควบคุมโดยรวมตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ในเรื่องนี้นายกิตติศักดิ์เองก็ไม่สามารถชี้แจงลงไปในรายละเอียดได้ ดังนั้น ทางพรรคฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า หาก สนช. จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระที่ 2 และ 3 ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็ไม่อยากให้ สนช. รับเรื่องนี้ไปพิจารณา ในทางตรงกันข้าม ทางพรรคฯ ขอวิงวอนให้หยุดเรื่องนี้ไว้ แล้วรอให้มีสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งให้เป็นผู้พิจารณาถึงผลกระทบโดยรวมต่อชาวนา และประเทศจะดีกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้

มติชนออนไลน์