“สนช.” นัด 20 ก.พ. ถกร่าง พ.ร.บ.ข้าว กมธ. ยันแก้ชาวนาถูกเอาเปรียบ-ไม่มีผลประโยชน์เบื้องหลัง

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายชาวนา กว่า 70 คน นำโดย นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย เข้ารับฟังเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วันที่ 20 ก.พ.นี้ พร้อมชี้แจงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์โดยก่อนเข้าสู่การชี้แจง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ที่เข้าร่วม กล่าวกับตัวแทนชาวนาว่า จะยืนยันจะพิจารณาบทบัญญัติเพื่อประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด และพร้อมรับทุกความเห็นมาพิจารณาในที่ประชุม ทั้งนี้ประเด็นที่เป็นข้อวิจารณ์ รวมถึงถ้อยคำที่ยังคลุมเครือที่ประชุม ซึ่งมี สนช. ทั้ง 200 คนจะช่วยพิจารณา เพื่อประโยชน์ของอาชีพชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวนาที่ร่วมรับฟังคำชี้แจงของ กมธ.ฯ เสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย เช่น กำหนดให้มีโรงเรียนชาวนา เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของเกษตรกร และพัฒนาต่อยอดการพัฒนา และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ด้วยกระบวนการของเครือข่ายชาวนาแทนให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ กำหนดให้มีกองทุนเพื่อชาวนา กำหนดให้มีตัวแทนคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (กบข.) ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด และมีหน้าที่ดูแลข้อพิพาท หรือไกล่เกลี่ย การขายข้าว รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้เครือข่ายชาวนา และในสัดส่วนของกรรมการ กบข. และอนุกรรมการฯ กำหนดกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ ในสัดส่วนตัวแทนเกษตรกร ควรให้เครือข่ายชาวนาเป็นผู้คัดเลือกกันเองก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง แทนใช้อำนาจของรัฐมนตรีแต่งตั้ง

ส่วนกมธ. ยืนยันว่า จะนำความเห็นของเครือข่ายเขียนไว้ในข้อสังเกต และให้รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถเขียนไว้ในร่างกฎหมายได้ เพราะจะขาดความยืดหยุ่น แต่ตามอำนาจของ กบข. ที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายในมาตรการส่งเสริมและพัฒนาสามารถนำข้อเสนอของชาวนาไปพิจารณาได้ ขณะที่กระบวนการสรรหาตัวแทนชาวนานั้น ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ กบข. ชุดปัจจุบัน ต้องกำหนดกติกาและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งขั้นตอนว่าด้วยการสรรหาตัวแทนเกษตรกร จะรับไปพิจารณา

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ. กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีที่กระแสโจมตีร่างพ.ร.บ.ข้าว ว่า มีฝ่ายการเมืองขอร้องให้ยุติการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว และให้ยกไปพิจารณาในรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แต่ตนมองว่าถ้าเขาจะทำจริง ทำไม่ต้องรอ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์หรือธุรกิจอยู่เบื้องหลัง โดยขอให้สังคมเข้าใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านพิจารณา จะมีผลกระทบเล็กน้อยกับผู้ประกอบการ, โรงสี เพื่อให้ปรับตัว ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาที่ชาวนาถูกเอาเปรียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในการชี้แจงดังกล่าว ตัวแทนชาวนาที่ร่วมประชุมนอกจากสะท้อนความเห็นแล้ว ยังกล่าวชื่นชมผ่านป้ายข้อความแสดงการสนับสนุน อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่นำนโยบายประชารัฐช่วยเหลือชาวนา ช่วยยกระดับการทำนา พร้อมกับกล่าวขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่ยินยอมให้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ…. และเตรียมทำให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ยังได้แสดงเจตนาสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ข้าว ฉบับ สนช. ด้วยการยกมือสนับสนุนให้ สนช.ผ่านการพิจารณาในวันที่ 20 ก.พ. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ…. จะเข้าสู่ที่ประชุมของ สนช. ในวาระสองและวาระสาม วันที่ 20 ก.พ.นี้ เป็นเรื่องด่วนลำดับที่ 2 โดย กมธ.ฯ แก้ไขบทบัญญัติเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่มีกมธ.ฯ สงวนความเห็นและ มีสนช. ที่เสนอคำแปรญัตติ 2 คน คือ พล.ร.อ.นพดล โชคระดม และพล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร ขณะที่ประเด็นที่สังคมกังวล ต่อกรณีการกำกับเครือข่ายชาวนาที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้แจกเครือข่าย, ขายในเครือข่าย ที่ร่างกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับการรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวนั้น และอาจเปิดช่องเอื้อประโยชน์กับนายทุนขายเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้น ทางกมธ. ยืนยันว่าจะไม่มีกรณีการรับรองพันธุ์ข้าวของชาวนาเพื่อซื้อ-ขาย

แต่ในร่างแก้ไขกฎหมาย มาตรา 27/2 ว่าด้วยการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวที่ดีมีคุณภาพ ยังกำหนดให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์ ที่เพาะปลูกในเขตที่มีศักยภาพ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ หรือปลูกในพื้นที่ของตนเองที่มีสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วในร่างกฎหมายยังกำหนดให้ กรมการข้าวเป็นหน่วยงานตรวจสอบพันธุ์ข้าว และสามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวได้

ทั้งนี้ พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ที่ร่วมฟังคำชี้แจง กล่าวว่า ในขั้นตอนรับรองพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว จะใช้เวลาพิจารณา นานถึง 6 ปี ดังนั้นในกรณีที่ชาวนาต้องการรับรองพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวแม้เป็นไปตามความสมัครใจ ต้องใช้เวลาพอสมควร และอาจทำให้ชาวนาเสียประโยชน์ได้