‘ชำนาญ จันทร์เรือง’โพสต์แนะ”การตีความกฎหมายต้องตีความในลักษณะที่ไม่ขยายความไปเป็นโทษ”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ โพสต์ผ่านโฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า จากการที่อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านได้ออกมาให้ความเห็นว่า การตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 60 ไม่มีระยะเวลาระบุไว้ ก็เท่ากับกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น ผมไม่เห็นด้วยเพราะโดยปกติแล้วกฎหมายจะบัญญัติบทกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีความผิดตามมาตราใดในกฎหมายฉบับนั้น จะต้องรับโทษอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาดูในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 60 ในหมวดที่ 10 ที่ว่าด้วยบทกำหนดโทษ(มาตรา 100 ถึง 139)แล้ว พบว่าไม่ได้บัญญัติระยะเวลาไว้ว่าหากมีการกระทำความผิดตามมาตรา 92 จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นระยะเวลาเท่าใดแต่อย่างใด

ฉะนั้น จึงต้องนำบทใกล้เคียงมาเทียบคือกับมาตรา 94 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมบริหารพรรคที่ถูกยุบห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมในการจัดพรรคใหม่ ภายในเวลา 10 ปี หลังวันที่มีคำสั่งยุบพรรค

กอปรกับมาตรา 9 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดว่า ผู้ที่มาตรา 9 (3) ระบุว่าบุคคลที่ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นผู้จัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แสดงว่ากรรมการบริหารพรรคจะไม่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่จะถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94 แทน

การตีความกฎหมายต้องตีความในลักษณะที่ไม่ขยายความไปเป็นโทษน่ะครับ

มติชนออนไลน์