สุรชาติ บำรุงสุข / การเมืองไทยในม่านหมอก! : ข่าวสารและข่าวลือเรื่องรัฐประหาร

กรุงเทพในช่วงที่ผ่านมาเป็นเหมือน “เมืองในหมอก” ที่ตื่นขึ้นมาในแต่ละเช้า เราจะมองเห็นสายหมอกลอยอยู่อย่างชัดเจน… จนดูจะเป็นความโรแมนติกอย่างยิ่ง แต่เผอิญกลุ่มหมอกครั้งนี้เป็นมลพิษ เพราะแฝงมาด้วยฝุ่น สายหมอกที่โรยตัวครอบคลุมตัวมหานครครั้งนี้ ทำให้ในบางวัน แม้ระยะจะไม่ห่างมากนัก เราก็เห็นภาพข้างหน้าด้วยความพร่ามัว และในบางวันที่หมอกลงหนา เราก็แทบจะมองสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าไม่เห็นชัดเลย… อะไรๆก็ไม่ชัดเจนในม่านหมอกหนา

การเมืองไทยในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ดูจะเป็นดัง ”เมืองในหมอก”… ในวันที่หมอกลงมาก เราแทบจะมองไม่เห็นอะไรข้างหน้าชัดเจน แม้ในวันที่หมอกบางๆ สิ่งที่เห็นก็ดูพร่ามัว ไม่ชัดเจน เป็นสภาวะที่ทัศนวิสัยอยู่ในระดับต่ำ จนเราไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างแท้จริง

ในภาวะที่การเมืองปัจจุบันไม่มีความชัดเจน และขณะเดียวกันก็มีความผันผวนและความแตกแยกเป็นองค์ประกอบสำคัญ เงื่อนไขการเมืองเช่นนี้จึงเป็นโอกาสอย่างดีของการสร้างข่าวปลอม ขยายข่าวลือ จนบางทีพวกเราที่เป็นประชาชนในฐานะผู้เสพข่าว เราแทบจะตอบไม่ได้เลยว่า ข่าวสารการเมืองที่ไหลเวียนอยู่ในโลกโซเชี่ยลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในไลน์ ยูทูป ทวีตเตอร์ เฟสบุ๊ค ว่าอะไรคือข่าวจริง… อะไรคือข่าวปลอม

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ใครจะเป็นคนยืนยันความถูกต้องของข่าวและข้อมูลทั้งหลายให้สังคม คำถามเช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การเมืองกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความผันผวน และมีความแตกแยกทางการเมืองเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง จนดูเหมือนในภาวะเช่นนี้เราจะตัดสินความถูกต้องของข่าวสารด้วยจุดยืนหรือด้วยความเชื่อทางการเมือง ภาวะดังกล่าวอาจจะต้องถือว่าเป็นความน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะความถูกผิดของข้อมูลข่าวสารกำลังถูดตัดสินด้วยทัศนะทางการเมือง

ภาวะเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งก็ซ่อนความกังวลอย่างมากของผู้คนในสังคมไทย ที่มีประสบการณ์ได้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่จบลงด้วยการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีคือ การยึดอำนาจในปี 2549 และในปี 2557… รัฐประหารสองครั้งในกรอบเวลาไม่ถึง 10 ปีนั้น ต้องถือเป็นสัญญาณลบอย่างยิ่ง เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เกิดสภาวะเช่นนี้ เช่น ฟิจิ และบูร์กินาฟาโซ

แต่เราต้องไม่ลืมว่ารัฐประหารครั้งที่สองในบูร์กินิฟาโซในปี 2558 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของผู้นำทหาร และเป็นความพ่ายแพ้ที่เป็นดัง”ฤดูใบไม้ผลิในอัฟริกาตะวันออก”(East African Spring)คู่ขนานกับภาพแห่งชัยชนะของประชาชนก่อนหน้านั้นกับ ”ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ”(Arab Spring) ที่เกิดขึ้นในปี 2553-2554

แน่นอนว่าในท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและการขยายตัวของข่าวลือที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วนั้น ข่าวลือหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้คนในสังคมไทยมาโดยตลอดก็คือ รัฐประหาร… เมื่อเกิดปัญหาการเมืองขึ้นเช่นในปัจจุบัน โดยมีสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนแวดล้อมอยู่ และสำทับด้วยความผันผวนแบบคาดคะเนไม่ได้นั้น เราจึงแทบไม่มีคำตอบเหลือเป็นอื่น นอกจากเชื่อว่า รัฐประหารจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอดีตสอนเราเสมอว่าเมื่อเกิดปัญหาการเมืองไทยขึ้นครั้งใด ก็มักจะจบลงด้วยการรัฐประหารทุกครั้ง จนแทบจะกลายเป็นสูตรตายตัวทางการเมืองของไทยว่า ปัญหาการเมือง=รัฐประหาร

ว่าที่จริงแล้วในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทุกวันนี้ รัฐประหารอาจจะไม่เรื่องง่ายๆ ในแบบที่ผู้นำทหารในอดีตคุ้นอีกต่อไป แน่นอนว่ารัฐประหารอาจจะไม่สิ้นสุดลงในการเมืองไทย แต่รัฐประหารในสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบเก่าที่ไม่มีอัตราเสี่ยง เพราะปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างและหลายเรื่องเปลี่ยนไปอย่างมาก

 

สภาวะเช่นนี้กล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า โลกของผู้นำทหารอาจจะหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่โลกที่แวดล้อมรอบตัวผู้นำทหารเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง… ผู้นำทหารอาจจะยังอยู่ในโลกใบเก่าที่พวกเขาสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่โลกที่เป็นจริงของสังคมไทยคือโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21 และในโลกร่วมสมัยเช่นนี้รัฐประหารอาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ทางการเมืองเช่นในยุคสงครามเย็นอีกต่อไป กลับเป็นเครื่องมือเก่าที่ล้าสมัย

“ดังนั้นหากเกิดรัฐประหารก่อนที่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะมาถึงแล้ว สถานะของประเทศจะตกต่ำลงอย่างมาก จนอาจกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความน่าเชื่อถือทางการเมืองเหลือให้ประชาคมระหว่างประเทศได้มีความเคารพนับถือต่อความเป็นประเทศไทย และถ้ารัฐประหารเกิดขึ้นก็จะเป็นการทำลายประเทศครั้งใหญ่ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ… ประเทศในเงื่อนไขเช่นนี้จะยังคงมีอะไรเหลือเป็นปัจจัยบวกให้แก่สังคมภายนอกได้มั่นใจกับอนาคตของสังคมไทย”

ต้องไม่ลืมว่าปี 2562 นี้  ประเทศไทยจะเข้าดำรงตำแหน่งอันมีเกียรติในภูมิภาคในฐานะประธานอาเซียน และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นประธานอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เท่าๆกับที่ไม่มีใครอยากเห็นผู้ที่นั่งหัวโต๊ะของอาเซียนเป็นผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจ… ประเทศไทยในความเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรนี้จึงไม่ควรเป็นผู้ทำลายเกียรติภูมิของอาเซียนเสียเอง

นอกจากนี้รัฐประหารก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้น จะเป็นเงื่อนไขในตัวเองที่ทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นในวงกว้างอย่างแน่นอน และพรรคการเมืองเองก็ไม่น่าจะยอมรับเช่นในปี 2549 หรือในปี 2557 อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้เงื่อนไขพิเศษก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะเงื่อนไขนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกันด้วย

ข่าวลือเรื่องรัฐประหารแม้อาจจะเป็นข่าวจริงได้ตามแบบของทหารไทยที่ยังเชื่อมั่นในความสำเร็จของการยึดอำนาจ แต่ถ้าเป็นจริง ก็มีราคาที่ประเทศไทยต้องจ่าย และราคานี้อาจจะสูงมากด้วย จนไม่แน่ใจว่าราคาที่ต้องจ่ายจะมีความคุ้มค่าเพียงใด และถ้ารัฐประหารเป็นจริงแล้ว ไทยอาจจะอยู่ในฐานะของ“ประเทศที่ล้มละลายทางการเมือง”ได้ไม่ยากนัก และที่สำคัญรัฐประหารในการเมืองปัจจุบันไม่ง่ายเหมือนเก่าอีกแล้ว

แต่ถ้าผู้นำรัฐบาลยืดอายุด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งอย่างที่ข่าวลือที่ออกมา ผลที่ตามมาก็ไม่ได้แตกต่างจากการรัฐประหาร เพราะการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นดัง”รัฐประหารเงียบ”ในตัวเอง หากจะคาดหวังว่าจะไม่มีแรงต้าน คงไม่ได้… แรงต่อต้านอาจจะไม่แตกต่างจากที่กล่าวแล้วเลย และจะทำให้รัฐบาลกรุงเทพอยู่ในภาวะของ”การล้มละลายทางความเชื่อถือ”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข่าวลือชุดนี้ไม่ง่ายเลย

แต่ถ้าจะมาด้วยสูตร”รัฐบาลแห่งชาติ”ภายใต้ชื่อรัฐบาลปรองดอง รัฐบาลเฉพาะกิจ หรือรัฐบาลเช่นนี้ในชื่ออะไรก็แล้วแต่ สิ่งนั้นก็คือการรัฐประหารในอีกรูปแบบหนึ่ง และมองไม่เห็นว่าจะเป็นจริงได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ และทั้งยังต้องประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งก็จะเป็นรัฐประหารในอีกรูปแบบหนึ่ง เรื่องนี้จึงอาจจะเป็นแค่ข่าวลือให้เราคุยสนุกๆกันเท่านั้นเอง เพราะหลายคนล้วนแต่ฝันอยากเห็นถึง การเปลี่ยนรัฐบาลทหารปัจจุบัน และที่ต้องฝันเช่นนี้ก็เพราะภาคสังคมไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นผู้พารัฐบาลทหารออกจากการเมืองไทย

 

ในท่ามกลางผันผวนรวนเรเช่นนี้ เราอาจจะต้องเป็น”ผู้รับสาร”ที่จะไม่ถูกถาโถมทับด้วยกระแสข่าวต่างๆ จนลืมนึกไปว่า ในท่ามกลางของกระแสข่าวที่เกิดขึ้นนั้น การต่อสู้และการแข่งขันทางการเมืองยังคงเดินหน้าต่อไป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งผลบวกและผลลบคู่ขนานกันไป สิ่งที่เกิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่จะชี้ขาดทางการเมืองได้ทั้งหมด และยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตามกันต่อไป และติดตามด้วยการที่จะไม่เป็น”เหยื่อ”ของความเครียดจากข่าวลือนานับประการ

ไม่ว่าจะเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นในขณะนี้ และไม่ว่าข่าวลืออะไรจะทะลักไหลบ่าเข้าท่วมสังคมไทย แต่ทิศทางการต่อสู้ทางการเมืองของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด การแข่งขันระหว่างฝ่ายที่นิยมระบอบการเมืองแบบเสรีกับฝ่ายที่นิยมระบอบทหารยังคงดำรงทิศทางหลัก และหวังว่าการแข่งขันนี้จะถูกตัดสินด้วยการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562… วันนี้คงต้องเดินหน้าด้วยหลักคิดที่สำคัญว่า อำนาจรัฐในอารยประเทศได้มาด้วยรถหาเสียง ไม่ใช่ด้วยรถถัง ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

อีกทั้งสังคมไทยจะต้องสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ และที่สำคัญการเลือกตั้งคือจุดตั้งต้นของการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเมืองของประเทศ การเลือกตั้งอาจจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างที่เราเผชิญ แต่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถพูดถึงปัญหาที่เรามีได้โดยไม่ถูกปิดปากและจับกุม เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้เราสามารถฟื้นฟูสถานะที่ตกตำ่ในทางการเมืองของประเทศไทยได้… ประเทศตกต่ำมามากพอแล้วจากการรัฐประหาร

ที่สำคัญการเลือกตั้งยินยอมให้เราเลือกผู้ปกครอง และทั้งยังเปลี่ยนผู้ปกครองได้จากความต้องการของเรา ต่างกับการรัฐประหารที่บังคับให้เราต้องอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่เราไม่ยินยอมโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

วันนี้หมอกควันในกรุงเทพเริ่มบางลงแล้ว และอากาศเริ่มดีขึ้น ทัศนวิสัยดีกว่าช่วงที่ผ่านมามาก เราเห็นอะไรๆชัดขึ้น จึงได้แต่หวังว่าเมฆหมอกที่ลอยปกคลุมการเมืองไทยจะลดลง เผื่อบางทีพวกเราทั้งหลายจะเห็นสิ่งต่างๆที่รออยู่เบื้องหน้าชัดเจนขึ้นบ้าง และอากาศที่ปลอดโปร่งมากขึ้นนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นรถหาเสียงมา รอที่จะพาเราทั้งหลายเดินทางไปสู่วันที่ 24 มีนาคม ร่วมกัน!